การดูแลผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาเคมีบำบัด
พ.ท.รศ.นพ.ปิยะ รุจกิจยานนท์
หน่วยโลหิตวิทยา กองกุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรคมะเร็งในเด็กถึงแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นกลุ่มโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งส่วนใหญ่มีอัตราการรอดชีวิตสูงเมื่อเทียบกับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้นในปัจจุบันของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง ได้แก่ ความก้าวหน้าในการวินิจฉัย การพัฒนาสูตรการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การดูแลรักษาผลข้างเคียงจากการรักษา และการที่ผู้ปกครองมีความรู้ และความเข้าใจในตัวโรค ตลอดจนสามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการดูแลโดยแพทย์ผู้รักษา บทความนี้ จะกล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งที่มีภูมิต้านทานต่ำ โดยอาจมีบางประเด็นที่ครอบคลุมถึงผู้ป่วยเด็กภูมิต้านต่ำจากสาเหตุอื่น ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูก และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
การป้องกัน หรือลดโอกาสการติดเชื้อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ ทั้งนี้การปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกที่จะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค ได้แก่ การรักษาความสะอาดของร่างกาย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้มือสกปรกขยี้ตา หรือแคะจมูก และรักษาความสะอาดของช่องปาก และฟัน สำหรับการล้างมือ ควรล้างมือผู้ป่วยก่อนทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รวมถึงหลังจากสัมผัสกับสิ่งของซึ่งไม่สะอาดและอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ การล้างมือสามารถทำได้โดยการล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ ผู้ปกครองควรที่จะรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการเกิดการติดเชื้อในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อรา โดยใช้แปรงสีฟันขนอ่อนทำความสะอาดฟันหลังทานอาหารและก่อนนอน หากยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับสามารถทำให้เกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบ ควรเลือกยาสีฟันชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของมินต์หรือเมนทอลเพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุช่องปาก เมื่อกลับบ้าน ผู้ป่วยควรอยู่ในบริเวณที่สะอาดและอากาศถ่ายเท ไม่มีสิ่งของที่กักผุ่นละออง เนื่องจากฝุ่นละอองอาจมีเชื้อราปนเปื้อน และสามารถทำให้ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันหรือจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อรุนแรงได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำมาก รวมถึงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับบุคคลที่มีอาการป่วยหรือติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กอื่นที่ป่วยเป็นโรคสุกใส ไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หากผู้ปกครองท่านใดท่านหนึ่งมีอาการป่วย ควรสลับให้อีกท่านมาดูแลผู้ป่วย และรีบแจ้งให้ทางแพทย์ผู้รักษาทราบ สำหรับการให้วัคซีนป้องกันโรค ผู้ป่วยไม่ควรได้รับวัคซีนเชื้อเป็นหรือเชื้อมีชีวิต เช่น วัคซีนสุกใส หรือวัคซีนหัดคางทูมและหัดเยอรมัน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้รักษา สำหรับการให้วัคซีนโปลิโอในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ มักจะให้วัคซีนเชื้อตายในรูปฉีดแทนที่จะเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่หยอดให้ทางปาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเด็กรายอื่นที่เพิ่มจะได้รับวัคซีนโปลิโอเชื้อเป็นที่หยอดให้ทางปากภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เนื่องจากโอกาสที่จะติดเชื้อปรสิตหรือพยาธิบางชนิด อย่างไรก็ตาม หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนและเลี้ยงในระบบปิด ขอให้ปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ
อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกสะอาด และควรทานภายในมื้อเดียว ไม่ควรเก็บค้างคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำมาก หลีกเลี่ยงของหมักดองทุกชนิด รวมถึงอาหารประเภท ลาบ ก้อย ส้มตำ น้ำตก อาหารสุกๆดิบๆ เค้กที่มีครีม เช่น คัพเค้ก คัสตาร์ด ผักสด ปลาดิบ ข้าวปั้น น้ำจิ้มลูกชิ้น ถั่วต้ม ถั่วดิบ ไข่ลวก ชีส โยเกิร์ต อาหารที่มีส่วนประกอบของไข่ดิบ เช่น น้ำสลัด มายองเนสสำหรับอาหารประเภททอด เช่น ไก่ทอด ทั้งแบบซื้อจากตลาด หรือที่มียี่ห้อการค้าต่างๆควรใช้มีดแล่เนื้อด้านในดูว่าสุกจริงหรือไม่ แป้งที่หนาอาจทำให้เห็นด้านนอกสีเหลืองเกรียมขณะที่เนื้อที่อยู่ด้านในยังไม่สุกผักสดควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำไปปรุงสุกทุกครั้ง โดยไม่รับประทานผักสด เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ผลไม้ต้องเป็นผลไม้ที่ต้องปลอกเปลือกก่อนรับประทานผลไม้ที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ผลไม้ที่ต้องรับประทานทั้งเปลือก เช่น องุ่น และผลไม้ที่ไม่มีเปลือก เช่น สตอเบอรี่ เชอรี่ ชมพู่ ฝรั่งอาหารกระป๋องหรือน้ำอัดลมกระป๋อง ให้ล้างกระป๋องทุกครั้งก่อนเปิดฝา เพราะอาจมีสัตว์มาถ่ายมูลไว้รอบๆ กระป๋องน้ำแข็ง ควรเป็นน้ำแข็งรูปหลอดที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดอย่างดี ไม่ควรบริโภคน้ำแข็งที่ปั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือเป็นเกล็ด หรือน้ำแข็งใสสำหรับน้ำผลไม้หรือน้ำดื่มควรรับประทานในบรรุจุภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรรับประทานน้ำผลไม้คั้นสด เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ สำหรับนมควรเลือกดื่มนมกล่อง UHT เพราะสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้ เนื่องจากนมพลาสเจอร์ไรซ์ที่ต้องเก็บในตู้เย็นตลอดเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิขณะขนส่งทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมาเจริญเติบโตได้ น้ำดื่มต้องต้มสุกสะอาด หรือเป็นน้ำบรรจุขวดอย่างดี ไม่ใช่น้ำบรรจุขวดขาวทึบที่ไม่มีสัญลักษณ์ อ.ย.นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยป้องกันการทำงานของไตที่ผิดปกติ และเพื่อขับสารตกค้าง การจิบน้ำบ่อยๆ จะทำให้เยื่อบุในช่องปากไม่แห้งและลดโอกาสเกิดแผลในช่องปากได้นอกจากนี้ หากไม่แน่ใจว่าอาหารดังกล่าวควรจะรับประทานได้หรือไม่ ยังไม่ควรรับประทานและควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ
ท้ายนี้ การที่ผู้ปกครองทราบและมีความเข้าใจถึงผลการตรวจนับเม็ดเลือดของผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการติดเชื้อของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้จำนวนเม็ดเลือดขาวที่ต่ำลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่สูงขึ้น ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยมีจำนวนของเม็ดเลือดขาวที่ต่ำลงหลังได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ปกครองควรจะให้การดูแลผู้ป่วยและเฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างเข้มงวดและใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยมีไข้หรืออาการที่ผิดปกติไปจากเดิม ผู้ปกครองควรที่จะต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้รักษาทันที