ความรู้สู่ประชาชน

ความผิดปกติทางโลหิตวิทยาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

พ.ท.รศ.นพ.ปิยะ รุจกิจยานนท์

       หน่วยโลหิตวิทยา กองกุมารเวชกรรม

    โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

เลือดเป็นองค์ประกอบที่สําคัญของระบบไหลเวียนเลือดในมนุษย์ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือด และส่วนที่เป็นน้ำเลือด หรือพลาสมา (รูปภาพที่ 1)โดยมีไขกระดูกเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทั้งนี้เซลล์เม็ดเลือดแต่ละชนิด ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ เม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ ฯลฯ เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการนำพาออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะ และเนื้อเยื่อในร่างกาย และเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดหยุดไหลในกรณีที่มีบาดแผลหรือมีภาวะเลือดออก โดยทำงานร่วมกับโปรตีนหลายชนิดในพลาสมา (รูปภาพที่ 2)

รูปภาพที่ 1 : ส่วนประกอบของเลือด

 

 

 

 รูปภาพที่ 2 : เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ 

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และหายจากโรคนี้ได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจป่วยหนักและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อ หรือจากผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดตามมาได้ ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19สามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาไวรัสเข้าสู่ร่างกายเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือโดยการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสแล้วสัมผัสตา จมูก หรือปาก อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถพบได้หลายระบบนอกเหนือจากการเกิดไข้ และอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ในบทความนี้จะกล่าวถึงความผิดปกติทางระบบโลหิตวิทยาที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้แก่ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และการแข็งตัวของเลือด โดยจะกล่าวถึงความผิดปกติที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีความแตกต่างกัน

 

 

ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว

ผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเม็ดเลือดขาว ได้แก่ การที่ไวรัสกดการสร้างเม็ดเลือดขาวจากไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาวที่ตรวจพบทางห้องปฏิบัติการมีจำนวนลดลง นอกจากนี้ "ไซโตไคน์" (cytokine) หรือสารโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อตอบสนองภาวะการอักเสบของร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวน หรือทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชือที่รุนแรง หรือมีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน สามารถตรวจพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวที่สูงกว่าปกติ รวมถึงเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลที่สูงได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า การตรวจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวที่สูง เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลที่สูง หรือ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ที่ต่ำ ในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับอาการของโรคที่รุนแรงของโรค และการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีจำนวนเม็ดเลือดดังกล่าวปกติ สำหรับผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ พบว่ามีอาการของโรคภายหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง และผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวปกติ  

ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง

ผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเม็ดเลือดแดง ได้แก่ การที่ไวรัสกดการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดแดงที่ตรวจพบทางห้องปฏิบัติการมีจำนวนลดลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่มีจำนวนเม็ดเลือดแดงอยู่ในระดับปกติ โดยอาจจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำลงในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงหรือต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤติ ทั้งนี้มีการรายงานเกี่ยวกับการตรวจพบภาวะโลหิตจางรุนแรงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จากการที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี หรือโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกัน ต่อเม็ดเลือดแดงของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง

ความผิดปกติของเกล็ดเลือด

ผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเกล็ดเลือด ได้แก่ การที่ไวรัสกดการสร้างเกล็ดเลือดจากไขกระดูกทำให้เกล็ดเลือดที่ตรวจพบทางห้องปฏิบัติการมีจำนวนลดลง หรือการที่เกล็ดเลือดถูกทำลายจากไซโตไคน์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองภาวะการอักเสบของร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่มีจำนวนเกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ โดยอาจจะพบว่ามีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลงในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง

ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด

ผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ การที่ไวรัสโควิด-19 ทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือด รวมถึงการที่ไซโตไคน์ หรือสารโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อตอบสนองภาวะการอักเสบของร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือด ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดที่สำคัญที่ตรวจพบในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก เนื่องจากการเกิดภาวะดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น และการพยากรณ์โรคที่แย่ลง สำหรับผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ พบว่ามีอาการของโรคภายหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง และตรวจพบความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดได้น้อยกว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม พบว่าอุบัติการณ์การเกิดความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดในเด็กจะสูงขึ้นในกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่พบหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงในผู้ป่วยเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุที่มากกว่า 12 ปี ทานยาคุมกำเนิด เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังก่อนหน้า เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

 

โดยสรุป การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางระบบโลหิตวิทยา ที่ ได้แก่ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และการแข็งตัวของเลือด อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกัน