การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล
สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 หรือหลังการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 พบได้บ่อยหรือไม่
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 หรือ หลังการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 (Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia; VITT) เป็นปัญหาที่พบได้หลังจากมีการระบาดของโรคไวรัสโควิด–19 ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความเสี่ยงมากกว่าจากการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 หลายเท่า พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด–19 จำนวน 4 คน ต่อ 10,000 คน มีอาการแสดงของลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep vein thrombosis;DVT) หรือ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ประมาณ 17 คน ใน 10,000 คนจะมีอาการแสดงของลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism; PE) ในขณะที่ประชากรทั่วไปมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด–19 จำนวน 1 คน ต่อ 100,000 คน นอกจากนี้ พบว่า ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง จะสูงกว่า 290 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ ด้วยเหตุนี้ แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นผลดีกว่าในการป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไร
กลไกการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีได้หลายประการ เช่น เกิดจากตัวเชื้อไวรัสโควิด–19 เองโดยตรงมีผลต่อชั้นเซลล์ที่อยู่ในหลอดเลือด หรือจากการตอบสนองต่อการอักเสบอย่างรุนแรงหลังติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ส่งผลทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีการสร้างลิ่มเลือดมากเกินไปจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
อาการและอาการแสดงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างไร
อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้น จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เช่น หากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองหรือระบบประสาท (Stroke)จะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว แขน และขา อ่อนแรง ร่วมกับมีอาการเหน็บชา เกิดอาการชัก เป็นลม หมดสติ เป็นต้น หากมีลิ่มเลือดอุดตันในปอด จะมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา จะมีอาการขาบวม ปวด เดินลำบาก หากมีลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในช่องท้อง เช่น บริเวณตับ ม้าม จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น
จะมีวิธีการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 อย่างไร
ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant therapy) อย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันซ้ำ ส่วนลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นแล้ว จะถูกสลายไปได้เองตามกลไกของร่างกาย
จะป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร
1. ดื่มน้ำในปริมาณมาก (อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน) เพื่อป้องกันภาวะเลือดหนืด
2. ควรปรึกษาแพทย์ หากมีโรคประจำตัวหรือมีใช้ยาบางประเภทที่ส่งผลให้เลือดหนืดขึ้น เช่น ยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
3. ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในช่วงติดเชื้อไวรัสโควิด-19
4. แนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
5. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีรสหวาน ในช่วงที่ติดเชื้อและหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
พฤติกรรมอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำน้อยเกินไป การไม่ออกกำลังกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย (เช่น การนั่งทำงานหรือเล่นเกมส์นานๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ) ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้
ภาพการตรวจ Doppler ultrasound ของหลอดเลือดดำส่วนลึกที่บริเวณขาแสดงให้เห็นลิ่มเลือดอุดตัน
ภาพแสดงขาช้ายบวมแดงที่เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำส่วนลึก