ความรู้สู่ประชาชน

การออกกำลังกายในผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย

         อ. พญ.ทัสมา พู่ทรงชัย

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          หลายคนคงเคยได้ยินโรคฮีโมฟีเลียกันมาบ้างว่าเป็นโรคที่ทำให้เลือดออกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกในข้อ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการให้แฟคเตอร์ทดแทน บางคนอาจสงสัยว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีโมฟีเลียนี้สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ หรือควรจะอยู่เฉยๆนิ่งๆดี เรื่องนี้มีคำตอบ

          ต้องเกริ่นกันก่อนว่า การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย อีกทั้งในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียมักมีความเสี่ยงของการมีมวลกระดูกที่ต่ำ ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้กระดูกแข็งแรง นอกเหนือจากการป้องกันไม่ให้เกิดเลือดออกในข้อ การกินอาหารที่มีแคลเซียมและได้รับวิตามินดีอย่างเหมาะสมแล้ว การออกกำลังการก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระดูกและข้อแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำกิจกรรมที่มีการออกแรงต้านแรงโน้มถ่วงของโลก

          กิจกรรมที่จะทำขึ้นอยู่กับความสนใจ ความสามารถของร่างกายในแต่ละคน และความเข้าถึงได้ของกิจกรรมนั้น กีฬาที่เราแนะนำก็จะเป็นแบบที่ไม่มีการกระทบกระแทก เช่น ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง กอล์ฟ แบดมินตัน ปั่นจักรยาน หรือ ปิงปอง เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องปะทะ เช่น ชกมวย หรือกีฬาที่ใช้ความเร็ว เช่น การแข่งรถจักรยานยนต์ เพราะอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเลือดออกได้

          อย่างไรก็ตามเราจะมาดูกันว่ามีอะไรที่เราต้องกังวลใจหรือไม่ หรือมีหลักเกณฑ์ง่ายๆ อย่างไร

  • ไม่มีแฟคเตอร์ทดแทน ไม่มีปัญหา: ความกังวลใจในการที่จะมีเลือดออกเวลาที่ออกกำลังกายในกรณีที่ไม่มีแฟคเตอร์ทดแทนนั้น ในความเป็นจริงเราสามารถเลือกการออกกำลังกายในระดับที่ง่ายและในขั้นตอนที่ถูกต้องก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้แฟคเตอร์ทดแทน
  • ช้าและคงที่: เริ่มจากกิจกรรมที่ง่ายก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากขึ้นทีละน้อย
  • ถ้าเจ็บปวดก็ไม่มีผลดี: ถ้าเราออกกำลังกายแล้วเจ็บหรือปวดแสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติ เราจะต้องคอยสังเกตอาการของร่างกายว่ามีความผิดปกติตรงไหนหรือไม่ระหว่างการออกกำลังกาย
  • สถานการณ์ที่ต่างกัน: จำนวนหรือวิธีการออกกำลังกายของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

          การออกกำลังกายที่เน้น คือ การบริหารข้อและกล้ามเนื้อ โดยในส่วนของการบริหารข้อนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การเคลื่อนไหวข้อ ความแข็งแรงของข้อและการรู้ตำแหน่งการเคลื่อนไหวของข้อ โดยข้อที่เน้น คือ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ส่วนของการบริหารกล้ามเนื้อนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยกล้ามเนื้อที่เน้น คือ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอข้อสะโพก กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อแขน

          ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการบริหารข้อเข่าในระดับง่าย

1. การเคลื่อนไหวของข้อเข่า

ระดับที่ 1 นั่งบนพื้นยืดขาไปข้างหน้า จากนั้นงอสะโพกและเข่าโดยเคลื่อนส้นเท้าเข้าหาตัว พยายามงอเข่าให้ได้มากที่สุด จากนั้นยืดเข่าโดยเคลื่อนส้นเท้าออกจากตัว พยายามให้ข้อเข่าชิดพื้นมากที่สุด

ระดับที่ 2 นั่งบนเก้าอี้ งอเข่าให้ได้มากที่สุดและยืดเข่าเตะขาไปข้างหน้าให้ไกลที่สุด

ระดับที่ 3 นอนคว่ำ งอเข่าพยายามให้ส้นเท้ามาใกล้กับบั้นท้ายมากที่สุด จากนั้นยืดเข่าออกให้ได้มากที่สุด

2. การเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า ดังภาพประกอบ

 

ระดับที่ 1 นอนหงายเอาหมอนรองใต้เข่า แล้วเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขา เหยียดเข่า เตะขาไปข้างหน้า ยกส้นเท้าขึ้น ค้างไว้แล้วผ่อนลง

ระดับที่ 2 นั่งบนเก้าอี้ เหยียดเข่า เตะขา ยกเท้าไปข้างหน้าให้ไกลที่สุด ค้างไว้แล้วผ่อนลง

ระดับที่ 3 นั่งท่าเดิมแล้วไขว้ข้อเท้ากันโดยเอาขาข้างที่มีอาการไว้ด้านบน กดข้อเท้าทั้งสองข้างต้านแรงกัน ค้างไว้แล้วผ่อนลง

 

ระดับที่ 4 เหมือนระดับที่ 1 แต่ใช้น้ำหนักผูกถ่วงที่ข้อเท้า

หากใครสนใจท่าในระดับที่ยากกว่านี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมตามที่มา อย่างไรก็ตามการเลือกการออกกำลังกายขึ้นกับการใช้งานของข้อในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้เป้าหมายหลักของการออกกำลังกายก็เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของข้อเท่ากันทั้งสองข้าง ที่สำคัญที่สุดการออกกำลังที่ได้ผลดีคือการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ อย่าลืมลองนำไปปฏิบัติกันนะ

ที่มา:

1. World Federation of Hemophilia. Exercise for people with hemophilia. Quebec: The World Federation of Hemophilia; 2006.

2. Srivastava A, Santagostino E, Dougall A, et al. WFH Guidelines for the Management of Hemophilia,3rd edition, Haemophilia. 2020;26(Suppl 6):1-158.