ความรู้สู่ประชาชน

การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

อ. นพ.เอกพันธ์ ครุพงศ์

สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

 

ผลข้างเคียงของการได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นขึ้นอยู่กับยาที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ การดูแลผู้ป่วยหลังได้รับยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปมีหลักการไม่แตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยทั่วไป ได้แก่

การรับประทานอาหาร

  • การรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดแนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบ ทั้งนี้การจำกัดอาหารบางประเภทขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวอื่นๆ ของผู้ป่วยเช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น สำหรับประเภทของอาหารที่ควรเลือกรับประทานได้แก่
  • โปรตีน : ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานโปรตีนได้ โดยไม่มีผลต่อโรค โปรตีนที่แนะนำอาจเป็นโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วชนิดต่างๆ หรือโปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อไก่ ไข่ ปลา เนื้อหมู เป็นต้น แต่แนะนำให้รับประทานหลากหลาย และหลีกเลี่ยงเนื้อติดมัน อาหารที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น
  • ไขมัน : แนะนำรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และแนะนำรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก ไขมันจากพืช ถั่ว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ (transfat)
  • ผัก และ ผลไม้ ผู้ป่วยหลังได้รับยาเคมีบำบัดสามารถรับประทานผักและผลไม้ โดยแนะนำรับประทานให้หลากหลายเช่นกัน  
  • เครื่องดื่ม :หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัดหรือมีน้ำตาลสูงทุกชนิด เช่น เครื่องดื่มผสมโซดา ลูกอม เค้ก เป็นต้น
  • แนะนำให้รับประทานอาหารที่สะอาด อุ่นร้อนก่อนรับประทานเสมอ ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารค้างคืน อาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก ผักดิบ และ ผลไม้ที่ต้องรับประทานทั้งเปลือก เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อสูงภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการรับประทานวิตามินเสริม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ไม่ควรซื้อหรือหามารับประทานเอง  

การดูแลเรื่องไข้ การเฝ้าระวังติดเชื้อ

ยาเคมีบำบัดบางชนิดจะมีผลข้างเคียงในการกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำลงโดยเม็ดเลือดขาวจะเริ่มต่ำลงหลังให้ยาเคมีบำบัด 7วัน และจะค่อยๆกลับสู่ระดับปกติภายใน 1 สัปดาห์ส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากให้ยา 7-14 วัน การดูแลผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ การปฏิบัติที่แนะนำได้แก่

  • สังเกตอาการไข้ ผู้ดูแลหรือผู้ป่วยอาจจะจัดหาปรอทวัดไข้ไว้เพื่อวัดไข้ โดยแนะนำไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดทันทีที่รู้สึกมีไข้หรือวัดไข้ได้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรรักษาความสะอาดบริเวณที่พักอาศัยแนะนำให้ผู้ป่วย และ ผู้ดูแล หมั่นล้างมือบ่อยๆ เช่น ขณะทำอาหาร ก่อนและหลังรับประทานอาหาร ก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  • ดูรักษาความสะอาดสุขอนามัยส่วนตัว รักษาความสะอาดช่องปากเพื่อลดการอักเสบของช่องปากภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์ก่อนและหลังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ก่อน-หลังรับประทานอาหาร เตรียมอาหาร ก่อน-หลังทำธุระในห้องน้ำ ก่อน-หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง หลังกลับจากทำธุระนอกบ้าน เป็นต้น  โดยเช็ดมือให้แห้งภายหลังล้างมือทุกครั้ง
  • พยายามหลีกเลี่ยงท้องผูก ถ้าผู้ป่วยมีประวัติท้องผูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาถ่าย แต่ห้ามสวนถ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • พยายามหลีกเลี่ยงผู้อื่นที่มีอาการแสดงของการติดเชื้อ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ
  • พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก  
  • สวมรองเท้าทุกครั้ง สวมถุงมือในกรณีที่จะต้องจับหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัส เช่น การทำสวน พรวนดิน ปลูกต้นไม้
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น
  • หลีกเลี่ยงดอกไม้แห้ง รวมถึงพวงมาลัยที่แห้งแล้วควรทิ้งทันที

การออกกำลังกาย

  • ผู้ป่วยหลังได้รับยาเคมีบำบัดสามารถออกกำลังได้ตามกำลังของผู้ป่วย
  • แนะนำการออกกำลังกายที่จะไม่เกิดการพลัดตกหกลัมหรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมากเนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด เช่นการเดินเป็นการเริ่มการออกกำลังกายที่ดี
  • การออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์ดีขึ้น มีความมั่นใจในตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ 
  • ในกรณีที่ยังไม่สามารถออกกำลังกายได้ แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน ไม่แนะนำให้นอนพักเพียงอย่างเดียวตลอดทั้งวัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือแข็งแรงขึ้นแนะนำให้เริ่มออกกำลังเท่าที่ทำได้ดังคำแนะนำข้างต้น

 

  

 

นอกเหนือจากการดูแลทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดยังอาจจะมีอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่ได้รับซึ่งประกอบด้วย

อาการคลื่นไส้อาเจียน

ผู้ที่รับยาเคมีบำบัดอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้โดยเกิดอาจเกิดภายหลังได้ยาเคมีภายใน 1 สัปดาห์ แพทย์ผู้ดูแลมักจะให้ยาเพื่อป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนมาด้วย นอกจากรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว การปฏิบัติตัวที่แนะนำได้แก่

  • พยายามรับประทานอาหารมื้อเล็ก 5-6 มื้อต่อวันแทนที่จะรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อเหมือนปกติ
  • พยายามหลีกเลี่ยงอาการที่มีกลิ่นแรง เนื่องจากอาจจะกระตุ้นให้อาเจียนเพิ่มขึ้น
  • พยายามหลีกเลี่ยงอาการหวาน อาหารมัน หรือ อาหารทอด
  • พยายามจิบน้ำบ่อยๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

อาการเบื่อ/ไม่อยากอาหาร

ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหาร หรือ ทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ แนะนำให้

  • รับประทานอาหารในปริมาณน้อย และ รับประทานบ่อยขึ้น
  • พยายามรับประทานเพิ่มขึ้นในวันที่รับประทานได้ดี
  • เลือกรับประทานอาหารที่ชอบ หรือ พยายามตกแต่งอาหารให้ดูน่ารับประทาน
  • เลือกรับประทานทานอาหารที่ให้พลังงานสูงและมีส่วนประกอบของโปรตีนสูง
  • หลีกเลี่ยงอาการที่มีกลิ่นแรง
  • การรับรู้รสชาติอาหารจะเปลี่ยนไปหลังได้ยาเคมีบำบัด แต่จะค่อยๆดีขึ้นภายหลัง
  • อาจปรับเปลี่ยนชนิดอาหารเช่นรับประทานอาหารเหลว อาหารนุ่ม แทน

อาการเจ็บปาก

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือการฉายแสงอาจจะทำให้เยื่อบุช่องปากบางลงและมีอาการอักเสบ และ อาการเจ็บ แนะนำให้

  • ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากก่อนเริ่มการรักษา สำหรับในกรณีที่ไม่สามารถรอพบทันตแพทย์ได้เนื่องจากจำเป็นต้องรีบให้การรักษา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล
  • พยายามทำให้ปาก เยื่อบุปาก ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เช่น ดื่มน้ำบ่อยๆ อมน้ำแข็ง อมลูกอม หรือเค้าหมากฝรั่ง โดยเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำตาล
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
  • รักษาความสะอาดช่องปาก อาจใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น แต่แนะนำหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ในกรณีที่ปากแห้งมาก แนะนำให้รับประทานอาหารที่นุ่มหรือเป็นน้ำ เช่น ซุป น้ำผลไม้ปั่น โยเกิร์ต
  • หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด อาหารร้อน อาหารที่เป็นกรด อาหารแข็งที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลในช่องปาก

อาการอ่อนเพลีย

ภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมีอาจอาการอ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นผลจากโรคของผู้ป่วยและจากยาเคมีที่ได้รับรวมทั้งผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาเช่นภาวะโลหิตจาง คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย

  • วางแผนงานประจำวัน แนะนำจัดกิจกรรมประจำวันเท่าที่สามารถทำได้ โดยอาจจะเลือกทำขณะที่อาการอ่อนเพลียมีไม่มาก
  • พยายามนั่งหรือนอนพักระหว่างกิจกรรมหรือระหว่างวันถ้ารู้สึกว่ามีอาการอ่อนเพลีย
  • ทำกิจกรรมที่สนใจ แต่ไม่หักโหมเกินไป
  • หาคนช่วยเหลือในกิจกรรมที่ทำไม่ไหว เช่น จ่ายตลาด ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกตินอกเหนือจากที่กล่าวมา รวมทั้งอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เช่น กังวล หรือ ซึมเศร้า แนะนำให้ไปพบและปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษา