ความรู้สู่ประชาชน

ก้อนมะเร็งมัยอิโลมา (plasmacytoma)

นพ.วิทวัส จันทร์ดำเนินพงศ์

แผนกโลหิตวิทยา กองอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

               ก้อนมะเร็งมัยอิโลมา หรือ พลาสมาไซโตมา (plasmacytoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยเซลล์มะเร็งที่เพิ่มขึ้นได้ไปสะสมอยู่บริเวณกระดูกหรือเนื้อเยื่อภายในร่างกายจนก่อตัวเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ กระดูกสันหลัง กระดูกสันอก และซี่โครง ซึ่งสาเหตุของการเกิดก้อนมะเร็งมัยอิโลมานั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยโอกาสที่จะพบมะเร็งชนิดนี้ในประชากรทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 1รายต่อประชากร 3 แสนคน มักพบในช่วงอายุเฉลี่ย 55 ปีขึ้นไปและพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

             ในปัจจุบันสามารถแบ่งประเภทของก้อนมะเร็งมัยอิโลมาได้เป็นสองประเภทตามตำแหน่งที่พบความผิดปกติ คือ

  1. ก้อนมะเร็งในกระดูก (bone plasmacytoma) พบความผิดปกติของเซลล์มะเร็งในกระดูก ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน ซี่โครง กะโหลก และกระดูกแขนขา
  2. ก้อนมะเร็งนอกไขกระดูก (extramedullary plasmacytoma) มักพบความผิดปกติบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่นอกจากไขกระดูก โดยบริเวณที่พบได้บ่อยคือเนื้อเยื่อข้างกระดูกสันหลังบริเวณลำตัว อีกทั้งยังพบได้ในบริเวณใบหน้า กล่องเสียง โพรงจมูก และเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง

             ผู้ป่วยที่ตรวจพบก้อนมะเร็งมัยอิโลมาสามารถพบก้อนมะเร็งได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่งขึ้นไป โดยร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วยมักพบอาการทางมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมาร่วมด้วย

อาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งมัยอิโลมา

              อาการของก้อนมะเร็งมัยอิโลมานั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พบความผิดปกติของก้อนมะเร็ง โดยอาการมักเกิดจากก้อนมะเร็งไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ขาอ่อนแรงหรือคลำได้ก้อนผิดปกติตามร่างกาย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเสียงแหบหรือหายใจลำบากมากขึ้นถ้าก้อนมะเร็งนั้นอยู่บริเวณกล่องเสียงหรือทางเดินหายใจส่วนบน โดยผู้ป่วยร้อยละ 50-70 มักพบอาการทางมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาร่วมด้วย ได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียจากภาวะซีด ปวดกระดูก กระดูกหักโดยไม่มีสาเหตุที่เหมาะสม ปัสสาวะออกน้อยหรือไตวายเฉียบพลัน และอาการของแคลเซียมในเลือดสูง ได้แก่ ท้องผูก ซึม ปัสสาวะบ่อย

การตรวจเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยโรค

เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้นควรไปพบแพทย์ในทันที เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยก้อนมะเร็งมัยอิโลมาเพื่อส่งชิ้นเนื้อตรวจ หลังจากที่ทราบผลชิ้นเนื้อยืนยันการวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วนั้น แพทย์จะดำเนินการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคและแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

 

  1. ตรวจนับเม็ดเลือดและค่าทางชีวเคมีเพื่อประเมินภาวะซีด ไตวาย แคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมาที่พบร่วมกับก้อนมะเร็งมัยอีโลมา
  2. ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของโปรตีนที่เซลล์มะเร็งพลาสมาเซลล์สร้างออกมา
  3. ตรวจไขกระดูกเพื่อประเมินการกระจายของเซลล์มะเร็งมัยอีโลมา
  4. ตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพื่อประเมินและค้นหาก้อนมะเร็งในตำแหน่งอื่นในร่างกาย (รูปที่ 1 และ 2)

   \

รูปที่ 1 ก้อนมะเร็งมัยอิโลมาบริเวณกระดูกซี่โครงซ้าย ตรวจวินิจฉัยด้วย PET-CT SCAN

รูปที่ 2 ก้อนมัยอิโลมาบริเวณกระดูกสันหลังที่ยื่นไปกดไขสันหลัง ตรวจวินิจฉัยด้วย MRI

 แนวทางการรักษา

ในปัจจุบันการรักษาก้อนมะเร็งมัยอีโลมาสามารถรักษาได้ด้วยการฉายแสง ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า และการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับการกระจายตัว ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการตรวจพบมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมาร่วม โดยจำแนกการรักษาได้เป็น

  1. ตรวจพบก้อนมะเร็งมัยอิโลมาตำแหน่งเดียว โดยไม่พบอาการของมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาร่วม การรักษาที่แนะนำคือการฉายแสงบริเวณก้อนมะเร็ง ส่วนการผ่าตัดในปัจจุบันไม่แนะนำให้ทำยกเว้นในกรณีที่มีกระดูกสันหลังทรุดหรือแตกหักร่วมด้วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเสริมความแข็แรงของกระดูกในบริเวณนั้น
  2. ตรวจพบก้อนมะเร็งมัยอิโลมาตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไป หรือ ตรวจพบมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาร่วมด้วย การรักษาที่แนะนำคือการใช้ยาพุ่งเป้าหรือยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงบริเวณก้อนมะเร็ง ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 65 ปี ควรจะเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากเซลล์ต้นกำเนิดของตนเองต่อไปเพื่อลดโอกาสในการกลับเป็นซ้ำของโรค

โดยสรุป ในปัจจุบันการรักษาก้อนมะเร็งมัยอีโลมาได้มีพัฒนาการขึ้นมาก มีการรักษาในหลากหลายวิธี การตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยขึ้นกับระยะของโรค การกระจายตัว และตำแหน่งที่พบ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

หัวข้ออื่นที่น่าสนใจ