มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหาร(Gastric Lymphoma)
อ. พญ.จันทิญา จันทร์สว่างภูวนะ
สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบทางเดินอาหารโดยรับอาหารต่อมาจากหลอดอาหารผ่านมายังกระเพาะอาหารและส่งต่อไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น หน้าที่ของกระเพาะอาหารคือการย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลงโดยอาศัยกลไกทางเคมีด้วยการใช้น้ำย่อยซึ่งมีสภาพเป็นกรดประกอบด้วยเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหาร และกลไกเชิงกลด้วยการบีบรัดตัวเพื่อให้อาหารที่รับประทานมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการดูดซึมสารอาหารต่อไป ตำแหน่งของกระเพาะอาหารอยู่ที่บริเวณช่องท้องส่วนบนบริเวณลิ้นปี่เยื้องไปทางชายโครงด้านซ้าย ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติของกระเพาะอาหารจะทำให้มีอาการปวดท้องที่บริเวณลิ้นปี่หรือท้องด้านซ้ายบนโดยอาการปวดท้องมีได้หลายแบบ เช่น จุกแน่นท้อง แสบท้อง เป็นต้น ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารทำให้มีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดได้ อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งที่บริเวณกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาหรือส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อดูพยาธิสภาพของกระเพาะอาหารและหาสาเหตุตามความเหมาะสม
มะเร็งที่ตรวจพบที่บริเวณกระเพาะอาหารส่วนใหญ่คือ มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric carcinoma) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร (Gastric epithelium)ทั้งนี้มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ก็สามารถพบที่กระเพาะอาหารได้เช่นกัน เนื่องจากที่กระเพาะอาหารมีเซลล์เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง (Lymphoid tissue) ประกอบอยู่ด้วยซึ่งทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้จะนำไปสู่การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหาร (Gastric lymphoma)ทั้งนี้การวินิจฉัยชนิดของมะเร็งต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและการย้อมสีที่จำเพาะเพื่อระบุชนิดของมะเร็งนั้นๆเพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารมี 2 ชนิด คือ
1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารชนิดโตช้า มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป (Indolent/Low grade lymphoma) ที่เรียกว่า Gastric mucosa-associated lymphoid tissue (MALT) lymphoma อาการมาด้วยปวดท้องเรื้อรังเป็นๆหายๆ อาการไม่รุนแรง ประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งชนิดนี้สัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori(H. pylori)ดังนั้นการตรวจพบและการรักษาการติดเชื้อ H. pyloriนี้ในระยะก่อนการเป็นมะเร็งจึงมีความสำคัญ สำหรับการวางแผนการรักษา Gastric MALT lymphoma จะต้องประเมินการลุกลามของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น (Staging) ในกรณีที่เป็นระยะต้นๆไม่มีการลุกลาม การรักษาการติดเชื้อ H. pyloriเพียงอย่างเดียวสามารถทำให้โรคมะเร็งนี้หายได้ ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจติดตามด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเป็นระยะ ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อหรือเป็นระยะลุกลามให้พิจารณารักษาด้วยการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยาแอนติบอดีต่อ CD20 (Rituximab) โรคนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดี
2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารชนิดโตเร็ว มีอาการรุนแรงที่เรียกว่า Primary gastric diffuse large B cell lymphoma (DLBCL) อาการมาด้วยปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอุดตันหรือทะลุได้ และอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไข้เวลากลางคืน รวมทั้งคลำก้อนได้ที่บริเวณท้องหรือต่อมน้ำเหลืองอื่นๆของร่างกาย มะเร็งชนิดนี้ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ H. pyloriการดูแลผู้ป่วยต้องมีการประเมินการลุกลามของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น (Staging) การรักษาคือการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยาแอนติบอดี (Rituximab) การพยากรณ์โรคขึ้นกับระยะการลุกลามของมะเร็ง อายุ และการตอบสนองต่อการรักษา
รูปที่ 1 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหาร
รูปที่ 2 คนปวดท้อง
รูปที่ 3 การดูแลรักษา