คำถามน่ารู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูกออสติโอซาร์โคมาในเด็ก
แพทย์หญิงกาญจน์หทัย เชียงทอง
หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรคมะเร็งของกระดูกคือโรคอะไร?
ความหมายของคำว่าโรคมะเร็งกระดูกคือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตัวกระดูกเอง ไม่ใช่เป็นโรคที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น
โรคมะเร็งกระดูกพบในเด็กได้ด้วยหรือ?
โรคนี้สามารถพบได้ในเด็ก ได้ประมาณ 30% ของโรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทย ชนิดที่พบมากที่สุด คือ ชนิดออสติโอซาร์โคมา
พบได้ในเด็กอายุเท่าไหร่?
โรคออสติโอซาร์โคมาพบมากในช่วงอายุมากกว่า 10 ปี โดยพบมากในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกระดูก
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการเกิดออสติโอซาร์โคมา?
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงหรือยาเคมีบำบัดมาก่อน โดยออสติโอซาร์โคมาเป็นมะเร็งที่พบได้ตามหลังการฉายแสง หรือการให้ยาเคมีบำบัดบางชนิด, โรคกระดูกบางชนิด เช่น Piaget disease, ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น การกลายพันธ์ของยีน RB1, TP 53
ออสติโอซาร์โคมามีอาการอย่างไร?
อาการที่สำคัญและพบบ่อยที่สุดคือ อาการปวด และอาจพบว่ามีก้อนเนื้อที่บริเวณนั้นร่วมด้วย อาการปวดนี้อาจเป็นๆ หายๆ และสัมพันธ์กับการออกแรง ส่วนก้อนเนื้อนั้นจะจับแล้วเจ็บ มักไม่พบอาการของ ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเหมือนมะเร็งชนิดอื่น
ก้อนเนื้อมีลักษณะอย่างไร?และตำแหน่งของโรคจะอยู่ที่ใดได้บ้าง?
ตำแหน่งจะพบที่กระดูกยาว ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกขา กระดูกต้นแขน นอกจากนี้มะเร็งชนิดนี้มักกระจายไปที่กระดูกส่วนอื่นๆ หรือไปยังปอด ก้อนเนื้อจะมีลักษณะดังรูปที่ 1
รูปที่ 1แสดงลักษณะก้อนเนื้อ
การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร?
ตรวจภาพรังสีเอกเรย์จะพบลักษณะที่เข้าได้กับมะเร็งออสติโอซาร์โคมา อย่างไรก็ดีควรตรวจต่อด้วยเอ็มอาร์ (MRI) เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน
รูปที่ 2 แสดงภาพรังสีเอกเรย์ของออสติโอซาร์โคมา (ตำแหน่งกระดูกขาข้างขวา)
ภาพที่ 3แสดงภาพเอ็มอาร์ (MRI) (ตำแหน่งกระดูกขาข้างขวา)
หลังจากทราบแล้วว่าเป็นออสติโอซาร์โคมา แผนการต่อไปคืออะไร?
ต่อมาต้องประเมินเรื่องของการกระจายของโรค โดยการตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์ปอด และการตรวจสแกนกระดูก และประเมินระยะของโรค
โรคนี้รักษาอย่างไร?
การรักษาหลักคือการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งชนิดของการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และการกระจายของโรคของผู้ป่วยแต่ละราย ผลของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับระยะโรคของผู้ป่วย