ความรู้สู่ประชาชน

ข้อควรรู้สำหรับผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ผศ.นพ.ชินดล วานิขพงษ์พันธุ์

หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

         การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือ hematopoietic stem cell transplantationนั้นเป็นหนึ่งในการรักษาที่สำคัญสำหรับโรคทางโลหิตวิทยา โดยเฉพาะมะเร็งทางโลหิตวิทยา โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อให้หายขาดจากโรค หรือโรคสงบยาวนาน การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เดิมเรียกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก เพราะเซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาใช้ปลูกถ่ายนั้นเก็บจากไขกระดูกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสามารถเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากเลือด และสายรกได้ จึงนิยมเรียกว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแทน

หลักการ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ประกอบด้วยการรักษา หรือควบคุมโรคทางโลหิตวิทยาของผู้ป่วยให้อยู่ในระยะสงบ หรือตอบสนองดีเยี่ยม จากนั้นจึงนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติ ไม่เป็นโรค และไม่มีมะเร็งปนเปื้อน ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ มาให้แก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำใหญ่ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ให้ จะวิ่งเข้าไปที่ไขกระดูก เริ่มฝังตัว และผลิตเม็ดเลือดใหม่ทดแทน จนร่างกายฟื้นตัว จำนวนเซลล์เม็ดเลือดทั้งสามชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ร่างกายได้เซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่ปกติ และไม่เป็นโรคมาทำหน้าที่ทดแทน จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยไม่ต้องได้รับผ่าตัดแต่อย่างใด (เคยมีความเข้าใจผิดว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ต้องมีการผ่าตัดเอากระดูกและไขกระดูกจากผู้บริจาค ไปใส่ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นความจริงเป็นเพียงการเก็บเซลล์จากผู้บริจาคและนำไปให้แก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดเท่านั้น)

ชนิด การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด แบ่งตามแหล่งที่เก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ได้เป็น 3 แบบ คือ ไขกระดูก เลือด และสายรก หากแบ่งตามผู้บริจาค แบ่งได้เป็น 2แบบ คือใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง และเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้อื่น โรคที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเองได้ คือโรคที่ไม่มีความผิดปกติของเซลล์กำเนิดเม็ดเลือด ส่วนโรคที่มีความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้น จำเป็นต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จากผู้บริจาคซึ่งมีความเข้ากันทางพันธุกรรม ซึ่งดีที่สุดคือผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา กับผู้ป่วยและมีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรม หรือ HLA  ซึ่งมีโอกาสเข้ากันได้โดยประมาณ 1 ใน 4กรณีที่ไม่มีผู้บริจาคพี่น้องร่วมบิดามารดาที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมโดยสมบูรณ์กับผู้ป่วย (matched sibling donor หรือ MSD)อาจใช้ผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมโดยสมบูรณ์กับผู้ป่วย (matched unrelated donor หรือ MRD)หรือผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งกับผู้ป่วย (haplo-identical donor หรือ HID)   

ขั้นตอนสำคัญ ของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้

  1. รักษาโรคของผู้ป่วยให้สงบ หรือตอบสนองต่อการรักษาขั้นดีมาก
  2. ประเมินสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยทั้งการทำงานของ ไต ตับ ปอด หัวใจ เป็นต้น รวมถึงการติดเชื้อที่แอบซ่อนอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปลูกถ่าย
  3. เก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  4. ให้การรักษาก่อนใส่เซลล์ ด้วยยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน และ/หรือการฉายแสง
  5. ใส่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทางหลอดเลือดดำ 
  6. ให้การรักษาประคับประคองจนร่างกายฟื้นตัวเต็มที่

 

สำหรับผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนที่ 3ของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด คือขั้นตอนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นสำคัญ ซึ่งแบ่งเป็น 2วิธีหลัก คือการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จากไขกระดูก และการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากเลือด โดยขั้นตอนการเก็บมีความแตกต่างกันดังตาราง

การเก็บเซลล์

จากไขกระดูก

จากเลือด

ผู้บริจาค

บุคคลอื่นที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรม โดยดูจาก HLA

ผู้ป่วยเอง หรือบุคคลอื่นที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมโดยดูจาก HLA

โรคอยู่ในระยะสงบ

ไม่จำเป็นเพราะเก็บจากผู้บริจาค

จำเป็นกรณีเก็บของเซลล์ตนเอง

เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเซลล์มะเร็ง

ฉีดยากระตุ้นเซลล์ ใต้ผิวหนัง ชื่อว่า G-CSF

ไม่จำเป็น

จำเป็น เพื่อเพิ่มปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและทำให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหลุดออกจากไขกระดูกเข้ามาอยู่ในกระแสเลือด  

นับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ก่อนเก็บ

ไม่จำเป็น

จำเป็น โดยนิยมนับวันที่ 4 หรือ 5 หลังฉีดกระตุ้น ควรมีค่ามากกว่า 20 เซลล์/ไมโครลิตร

ดมยาสลบ

จำเป็น

ไม่จำเป็น

ใส่สายสวนหลอดเลือดดำ

ไม่จำเป็น

จำเป็น

เครื่องเก็บเซลล์

ไม่จำเป็น

จำเป็น

วิธีการเก็บ

หลังดมยาสลบแล้ว จัดท่าให้ผู้บริจาคนอนคว่ำ เจาะดูดไขกระดูกบริเวณก้น ทั้ง 2ข้างจนได้ปริมาณเซลล์ตามต้องการ

ต่อเครื่องเก็บเซลล์กับหลอดเลือดดำของผู้บริจาคโดยมี 2สาย สำหรับดูดเลือด และคืนเลือด เครื่องจะทำการปั่นแยกเฉพาะส่วนของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมาเก็บในถุง ส่วนที่เหลือคืนกลับสู่บริจาค

ความสะดวกในการเก็บ

น้อยกว่า เพราะต้องเก็บในห้องผ่าตัด ดมยาสลบ และต้องการทีมงานหลายคน เพื่อเจาะดูดไขกระดูก และผสมสารกันการแข็งตัวของเลือดตลอดเวลา

มากกว่า สามารถเก็บที่หอผู้ป่วยสามัญได้

ระยะเวลาในการเก็บ

1วัน ในห้องผ่าตัด ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง

ขึ้นกับปริมาณเซลล์ที่เก็บได้ โดยเฉลี่ย 1-2 วัน โดยต่อเครื่องเก็บเซลล์นานครั้งละ 3-6 ชั่วโมง

ระยะเวลาในการนอน รพ.

3วัน

3-4 วัน (7 วันรวมฉีดกระตุ้น)

การรักษาสภาพเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหลังเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้ว จะมีการนับจำนวนเซลล์ที่ได้ และเติมน้ำยารักษาสภาพเซลล์ ชื่อว่า DMSO และนำไปแช่ในถังไนโตรเจนเหลว หรือตู้เย็นอุณหภูมิ -180 องศา รอนำมาใช้ เมื่อจะนำมาใช้ ต้องมีการละลายโดยควบคุมอุณหภูมิ 

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญจากการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด  

กรณีเก็บเซลล์จากเลือด

  1. จากการแทงเส้นหลอดเลือดดำ คือ เจ็บเล็กน้อยขณะแทงเส้น เส้นเลือดได้รับบาดเจ็บ หลอดเลือดอักเสบหลังแทงเส้น และอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ร้อยละ 3ถึง 5 หากเกิดขึ้นสามารถรักษาให้หายขาดได้
  2. จากยาฉีดกระตุ้นเซลล์ จะทำให้มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เนื่องจากไขกระดูกเร่งผลิตเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หากมีอาการมากสามารถรับประทานยาบรรเทาอาการ ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากยาคือม้ามแตกนั้น พบได้น้อยมาก น้อยกว่า 1ใน 50,000 หรือ 1ใน 100,000 และมีเพียงรายงานกรณีศึกษาว่าอาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น
  3. จากเครื่องเก็บเซลล์ เนื่องจากมีการดูดเลือดเข้าเครื่องเพื่อปั่นแยกเซลล์ และคืนเลือดและส่วนประกอบของเลือดกลับสู่ผู้ป่วยตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการใส่สารป้องกันการแข็งตัวของเลือด ในระหว่างเก็บเซลล์ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบบ่อยคือ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งป้องกันได้โดยให้แคลเซียมทดแทนทางหลอดเลือดดำระหว่างเก็บเซลล์ และหากมีอาการสามารถแจ้งทีมแพทย์ผู้ดูแลซึ่งคอยเฝ้าดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาได้ เพื่อให้แคลเซียมทดแทนเพิ่ม หรือลดความเร็วในการเก็บเซลล์ลง โดยอาการจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เริ่มแรกจะมีอาการชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงขึ้นจนมีมือเท้าจีบเกร็ง หรือกระตุก และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้  

กรณีเก็บเซลล์จากไขกระดูก

  1. จากการดมสลบ มีอาการเจ็บปาก หรือคอเล็กน้อยจากการใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างดมยาสลบ
  2. จากการเจาะดูดไขกระดูก มีแผลและอาการเจ็บระบมแผล 1-2 วัน หลังเจาะดูดไขกระดูก

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ก็คล้ายการบริจาคเลือด หรือเกล็ดเลือด ซึ่งร่างกายสามารถสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดจากการบริจาค

ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะช่วยลดความวิตกกังวล และทำให้ผู้บริจาคเซลล์ เก็บเซลล์อย่างปลอดภัย และทำให้มีผู้มาบริจาคเซลล์ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายไขกระดูก มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะเครื่องเก็บเซลล์

ภาพที 2 แสดงถุงเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่เก็บได้