ความรู้สู่ประชาชน

โรคมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก

รศ. นพ.เจษฎา บัวบุญนำ

สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ภาพมะเร็งจอประสาทตาที่ทำให้เกิดตาวาว

     โรคมะเร็งจอประสาทตาเป็นโรคที่พบได้เป็นอันดับ 7 ของโรคมะเร็งในเด็ก จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ปีละประมาณ 30 รายต่อปี และส่วนมากมักจะพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แม้ว่าจะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยแต่การตรวจพบที่ล่าช้าอาจทำให้โรคลุกลามจนไม่สามารถเก็บรักษาดวงตาไว้ได้หรือโรคอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นจนทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดมะเร็งจอประสาทตายังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้ป่วยหลายรายสัมพันธ์กับความผิดปกติของยีนที่ชื่อ RB ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งเซลล์และการตายของเซลล์ในร่างกายของคนปกติ ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติของยีนดังกล่าวในเซลล์สืบพันธุ์จะมีความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตาได้และผู้ป่วยมะเร็งจอประสาทตาเองก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีลูกเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตาเช่นกัน

  

ภาพอัลตราซาวด์แสดงก้อนมะเร็งจอประสาทตา

อาการและอาการแสดงของมะเร็งจอประสาทตาในระยะแรกมักจะวินิจฉัยยาก อาการที่พบบ่อย ได้แก่อาการตาวาวซึ่งเกิดจากแสงที่สะท้อนจากตัวก้อนมะเร็งในจอประสาทตา โดยจะพบลักษณะจุดสีขาวที่กลางตาดำ อาการแสดงอื่นๆ ได้แก่ อาการตาเหล่ หรือมีเลือดออกในช่องด้านหน้าม่านตา ในบางรายก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจมีอาการปวดตาหรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบลูกตาซึ่งเกิดจากการตายของเนื่อเยื่อบริเวณรอบ ในรายที่โรคมีการลุกลามออกนอกลูกตาผู้ป่วยอาจตรวจพบตาโปน เนื่องจากก้อนมะเร็งลามออกมาในเบ้าตา ผู้ป่วยที่โรคลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใบหน้า ในรายที่มีโรคแพร่กระจายไปที่สมองผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีอาการชักหรือแขนขาอ่อนแรงได้ ผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายไปที่กระดูกอาจมีอาการปวดกระดูกหรือคลำพบก้อนตามแขนขาได้ ในผู้ป่วยที่โรคมีการลุกลามออกนอกเบ้าตาหรือมีการแพร่กระจายจะเป็นกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดีและอาจจะเสียชีวิตแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ ดังนั้นการสังเกตบุตรหลานของตนเองว่ามีอาการตาวาวหรือการมองเห็นที่ผิดปกติหรือไม่ จึงมีความสำคัญเนื่องจากการตรวจพบในระยะแรกของโรคอาจจะรักษาให้หายขาด รวมทั้งอาจรักษาดวงตาและความสามารถในการมองเห็นได้

     

ภาพมะเร็งจอประสาทตาจากการตรวจตาด้วยกล้องสำหรับตรวจตา

     หากบุตรหลานของท่านมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อได้รับการตรวจอย่างละเอียด ซึ่งโรคอื่นๆ ที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาวาว ได้แก่ ความผิดปกติของวุ้นตาหรือหลอดเลือดที่จอตาแต่กำเนิด หรือการติดเชื้อพยาธิบางชนิด ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ดวงตา การทำเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็กของสมองและลูกตา เป็นต้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคและประเมินการลุกลามของโรค ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามะเร็งจอประสาทตาอาจจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยอาจพิจารณาตรวจตาของพี่น้องของผู้ป่วยมะเร็งจอประสาทตาด้วยเนื่องจากอาจพบตัวโรคได้

การรักษามะเร็งจอประสาทตาขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อนและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ในรายที่ก้อนมีขนาดเล็กและผู้ป่วยยังมีความสามารถในการมองเห็น แพทย์ผู้รักษาจะทำการรักษาอย่างเต็มที่เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเอาลูกตาออก โดยการใช้การรักษาเฉพาะที่ เช่น การจี้ความเย็นหรือการใช้เลเซอร์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำทุกๆ 3 ถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน การรักษาทั้ง 2 วิธีมีผลเสริมฤทธิ์กันทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลงโดยอาจจะต้องให้การรักษามากกว่า 1 ครั้ง

     อย่างไรก็ตามการรักษาดังกล่าวอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น จอตาฉีกขาดจากการรักษาเฉพาะที่ หรือภาวะติดเชื้อ เนื่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากการให้ยาเคมีบำบัด นอกจากการรักษาดังที่กล่าวมายังมีการรักษาอื่นๆ เช่น การฉีดยาเคมีบำบัดเข้าในชั้นวุ้นตาหรือทางหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตัวก้อนมะเร็งโดยตรง การใช้ฉายรังสีหรือการวางแร่กัมมันตรังสีที่ตา เป็นต้น ซึ่งการรักษาดังกล่าวมีความซับซ้อนและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกันไปในแต่ละวิธีของการรักษา

     นอกจากนี้อาจจะยังไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไปจึงจำเป็นจะต้องส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ในรายที่ก้อนมีขนาดใหญ่สูญเสียการมองเห็น ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น หรือโรคมีการลุกลามออกนอกลูกตาผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการเอาลูกตาออกและใส่ตาปลอมในภายหลัง

     การผ่าตัดเอาลูกตาออกอาจจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากสำหรับผู้ปกครอง และมีผู้ปกครองของผู้ป่วยหลายรายหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเอาลูกตาออก ทำให้โรคมีการลุกลามและแพร่กระจายไปมากซึ่งกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจะมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากเนื่องจากอาการเจ็บปวดจากตัวก้อนหรือมีภาวะเลือดออกจากตัวก้อนและผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตทุกรายแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ การผ่าตัดเอาลูกตาออกจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อที่จะรักษาชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้การผ่าตัดเอาลูกตาออกเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีการลุกลามจะทำได้โดยยากและอาจจะต้องผ่าตัดเอาเนื่อเยื่อโดยรอบออกเป็นขนาดกว้างมากกว่าปกติ ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ตาปลอมมีความคล้ายคลึงกับตาจริงมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเอาลูกตาออกมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขขึ้น
      กล่าวโดยสรุปว่า การตระหนักถึงภาวะตาวาวในเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมอย่างมากในการเฝ้าระวังภาวะดังกล่าว การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกของโรคจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดและอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเอาลูกตาออกได้