การบริจาคโลหิต หนึ่งคนให้ สามคนรับ
พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา
หน่วยโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การบริจาคโลหิตเป็นวิธีการช่วยชีวิตผู้อื่นที่ดีที่สุดที่คนทั่วไปสามารถทำได้ เลือดและส่วนประกอบของเลือดมีความสำคัญในการรักษาอย่างยิ่งทั้งในผู้ป่วยที่เสียเลือดจากอุบัติเหตุ หรือมีโรคที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เอง โดยเลือดและส่วนประกอบของเลือดต่างจากยารักษาโรคเนื่องจากไม่สามารถซื้อขายได้ จำเป็นต้องได้มาโดยการบริจาคเท่านั้น การบริจาคเลือดไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริจาค เนื่องจากร่างกายของผู้บริจาคจะสามารถสร้างเม็ดเลือดและส่วนประกอบของเลือดทดแทนส่วนที่บริจาคไปภายในระยะเวลาอันสั้น การบริจาคเลือดมีสองแบบใหญ่ คือการบริจาคเลือดทั่วไป กับการบริจาคเกล็ดเลือดโดยใช้เครื่องแยกส่วนประกอบของเลือด
การบริจาคเลือดทั่วไป เป็นการบริจาคที่ง่ายที่สุด โดยนำเลือดจากจากผู้บริจาคออกมาใส่ถุงบริจาคโดยตรง ใช้ระยะเวลาบริจาคสั้นประมาณ 10-20 นาที และช่วงพักติดตามอาการหลังบริจาคอีก 15-20 นาที เลือดที่ได้มาจะถูกนำไปแยกส่วนประกอบเป็นเม็ดเลือดแดงอัดแน่น เกล็ดเลือด และพลาสมา ทำให้สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับเลือดแดงและส่วนประกอบของเลือดจำนวน 3 คน ร่างกายผู้บริจาคจะสามารถสร้างเลือดทดแทนส่วนที่บริจาคอย่างรวดเร็ว และสามารถให้บริจาคเลือดซ้ำได้ในอีก 90 วัน แต่ในบางประเทศสามารถกลับมาบริจาคเลือดซ้ำได้ใน 60 วัน
การบริจาคเกล็ดเลือดโดยใช้เครื่องแยกส่วนประกอบของเลือด เป็นวิธีการบริจาคเกล็ดเลือดที่ดีที่สุด โดยเลือดของผู้บริจาคจะถูกนำไปเข้าเครื่องแยกส่วนประกอบของเลือดเพื่อคัดเก็บเฉพาะเกล็ดเลือดเท่านั้น โดยเลือดแดงและพลาสมาจะกลับคืนสู่ผู้บริจาค วิธีนี้จะทำให้สามารถคัดเก็บเกล็ดเลือดได้ปริมาณ 4-6 เท่าของวิธีบริจาคเลือดทั่วไป โดยเสียปริมาตรเลือดน้อยกว่า ผู้บริจาคจะสามารถกลับมาบริจาคเกล็ดเลือดซ้ำได้ในอีก 30 วัน ระยะเวลาคัดเก็บเกล็ดเลือดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เกล็ดเลือด 1 ถุง ที่ได้มาจะสามารถให้แก่ในผู้ป่วย 1 คนเพื่อป้องกันหรือหยุดเลือดที่ออก ซึ่งหากใช้เกล็ดเลือดที่ได้จากการบริจาควิธีปกติ จะต้องใช้เกล็ดเลือดจากผู้บริจาคจำนวน 4-6 คนรวมกัน วิธีนี้จึงเป็นวิธีบริจาคเกล็ดเลือดที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อายุระหว่าง 17-60 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม ไม่มีไข้หรือหวัด ไม่ควรรับประทานยาใดโดยเฉพาะยาแอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้บริจาคที่มีโรคประจำตัวและได้รับประทานยาประจำบางอย่างอาจจะไม่สามารถบริจาคเลือดได้
การปฏิบัติตนในวันบริจาคโลหิต ควรพักผ่อนให้เต็มที่โดยนอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้อย่างเต็มที่ปริมาณ 3-4 แก้ว และควรรับประทานอาหารตามมื้ออาหารปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และงดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ชั่วโมง นำบัตรประจำตัวประชาชนมาติดต่อที่ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือศูนย์รับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย รวมทั้งศูนย์รับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ ผู้แจ้งความจำนงบริจาคจะต้องกรอกแบบสอบถาม เพื่อประเมินคุณสมบัติว่าเหมาะสมในการเป็นผู้บริจาคหรือไม่ ได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจหมู่เลือดและความเข้มข้นของเลือด หากผ่านขั้นตอนทุกอย่างจึงจะสามารถบริจาคเลือดได้อย่างปลอดภัยต่อทั้งตัวผู้บริจาคเอง และผู้ป่วยที่ได้รับเลือดของท่านต่อไป
ภายหลังบริจาคโลหิตควรดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มากกว่าปกติ 1-2 วัน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากในวันบริจาคโลหิต และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงหรือทานธาตุเหล็กที่ได้รับจากศูนย์รับบริจาคโลหิตวันละ 1 เม็ดเพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
การบริจาคโลหิตถือเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้อื่น โดยการบริจาคเลือดปกติ 1 ครั้งสามารถช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ 3 คน จึงขอเชิญชวนมาช่วยกันบริจาคโลหิต เพื่อให้มีเลือดเพียงพอในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยตลอดไป