บทบาทของสเต็มเซลล์ต่อการรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน
โดย พญ.พิมพ์ใจ นิภารักษ์
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันแบ่งเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันมัยอิลอยด์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันลิมฟอยด์ซึ่งการรักษาหลักของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันทั้ง 2 ชนิด คือ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด สำหรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (สเต็มเซลล์)จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลางหรือ เกณฑ์ที่ไม่ดี หรือ โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครั้งแรก โดยผู้ป่วยต้องมีอายุน้อยกว่า 60- 65 ปี และมีสุขภาพร่างกายโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ เป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแบ่งตัวให้เป็นเซลล์ของตัวเองและเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้รวมถึงเซลล์เม็ดเลือด ดังนั้นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จึงถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันซึ่งเป็นวิธีที่สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันให้หายขาดได้
หลักการของการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน คือ การใส่สเต็มเซลล์ของผู้บริจาคเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยหลังได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงขณะเข้าทำการปลูกถ่ายฯ หลังจากนั้นสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคจะเข้าไปแทนที่สเต็มเซลล์ของผู้ป่วย และทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้เซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดที่สร้างขึ้นมาใหม่จากสเต็มเซลล์ผู้บริจาคยังมีความสามารถในการทำลายเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ รวมถึงเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งได้
การรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะได้ผลดีทำให้โรคหายขาดได้ในกรณีที่ตัวโรคของผู้ป่วยต้องสงบก่อนที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยเฉพาะการตรวจพบเซลล์มะเร็งในไขกระดูกน้อยกว่าร้อยละ 5 ร่วมกับการตรวจไม่พบความผิดปกติทางด้านโครโมโซม และ ยีน ที่ผู้ป่วยเคยตรวจพบในช่วงระยะเวลาที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์ของตัวโรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลางจะมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งหลังได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากกว่ากลุ่มพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ดังนั้นโอกาสกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหลังได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ขึ้นกับ ภาวะโรคสงบก่อนปลูกถ่ายฯ และการพยากรณ์ของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน