การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน
โดย
นพ.วศิเทพ ลิ้มวรพิทักษ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงมีความไวต่อยาเคมีบำบัดมากแต่เนื่องจากยาเคมีบำบัดส่งผลต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วด้วย ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือด ผม เล็บ ตุ่มรับรส ผิวหนัง ทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือดต่ำ ผมร่วง เล็บมีสีคล้ำ การรับรสผิดปกติ
เป้าหมายของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน คือ การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระยะโรคสงบและป้องกันไม่ให้โรคเป็นกลับซ้ำ จึงจำเป็นจะต้องมีการประเมินโรคซ้ำ ได้แก่ ช่วงหลังจากการให้ยาเหนี่ยวนำไปแล้ว 28 วัน เพื่อประเมินไขกระดูกผู้ป่วยว่ายังเหลือเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวอยู่มากน้อยเพียงใด หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสงบและไขกระดูกฟื้นตัวแล้ว จึงให้ยาเคมีบำบัดต่อเพื่อเป็นการทำให้โรคสงบต่อและเพื่อลดปริมาณเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่
การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ ใช้สูตรยาเคมีบำบัดที่ประกอบด้วย ยา idarubicin ร่วมกับ cytarabine ทางหลอดเลือดดำ หรือที่เรียกว่า สูตรยา 3+7 เพื่อให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ หลังจากโรคเข้าสู่ระยะสงบแล้ว พิจารณารักษาโดยหากเป็นกลุ่มความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำสูง พิจารณาปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หากความเสี่ยงต่ำอาจให้ยาเคมีบำบัดต่อเป็นยา cytarabine ขนาดสูงต่ออีก 3-4 ครั้ง ส่วนการรักษากลุ่มผู้ป่วยความเสี่ยงปานกลาง ข้อมูลยังไม่แน่ชัดว่า ควรจะต้องให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดร่วมด้วย หรือไม่ควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น โรคร่วมอื่นๆ ของผู้ป่วย
การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ ระยะแรกจะเป็นการให้ยาเคมีเพื่อนำให้ตัวโรคเข้าสู่ระยะสงบ จากนั้นจะเป็นการให้ยาเพื่อทำให้ตัวโรคสงบนานขึ้น และเนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำในระบบประสาทส่วนกลาง จึงต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำในระบบประสาทส่วนกลางด้วยยา methotrexate ขนาดสูง หรือการฉายแสง และจำเป็นต้องมีการให้ยาเพื่อทำให้โรคอยู่ในระยะสงบต่อเนื่องร่วมด้วย ส่วนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแนะนำให้ทำเร็วที่สุดหากมีความเสี่ยงสูงมาก ส่วนกลุ่มความเสี่ยงอื่นๆ แนะนำให้ทำหลังจากที่ตัวโรคเป็นซ้ำ