โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดในเด็ก
รศ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล
สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด (Immune thrombocytopenia: ITP) เป็นโรคเลือดออกง่ายที่เกิดขึ้นภายหลังที่พบบ่อยในเด็ก เกล็ดเลือดเป็นเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง (ภาพที่ 1) ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เลือดหยุดเวลาเกิดบาดแผล เมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำลงมาก ผู้ป่วยสามารถมีเลือดออกเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติอุบัติเหตุ กระทบกระแทก หรือเกิดบาดแผล สาเหตุของโรคนี้เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายสร้างแอนติบอดี้มาจับกับผนังเกล็ดเลือดและทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง ซึ่งการสร้างแอนติบอดี้นี้อาจจะได้รับกระตุ้นจาก การติดเชื้อไวรัส การได้รับยาหรือวัคซีนเชื้อเป็นบางชนิด หรือโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้เกิดได้ในทุกช่วงอายุของเด็ก แต่พบบ่อยในอายุ 2-5 ปี
ภาพที่ 1 เกล็ดเลือดคนปกติ (ลูกศรชี้)
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการเลือดออก เช่น รอยช้ำ (ecchymosis) จุดจ้ำเลือดออกบริเวณผิวหนังตามลำตัว แขนขา (petechiae) (ภาพที่ 2) แต่ถ้าเกล็ดเลือดต่ำมาก อาจจะมีอาการเลือดออกรุนแรงมากขึ้น เช่น เลือดออกตามเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก เป็นต้น (ภาพที่ 3) ซึ่งถ้าพบอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจจะมีเลือดออกรุนแรงในอวัยวะอื่น ๆ ได้ ส่วนประวัติ หรือ การตรวจร่างกายอื่น ๆ ที่จะช่วยวินิจฉัยโรคนี้ คือ โดยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยจะสบายดีมาตลอด อาจจะพบประวัติการติดเชื้อไวรัส เช่น อาการหวัด ไข้ ไข้ออกผื่น หรือประวัติได้รับวัคซีนเชื้อเป็นบางชนิด ก่อนมีอาการประมาณ 2-4 สัปดาห์ ตรวจร่างกาย จะพบอาการเลือดออกดังกล่าว อาจจะมีอาการซีดได้บ้าง ถ้าอาการเลือดออกเป็นมานานเรื้อรัง แต่จะไม่พบ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือ ตับม้ามโต
ภาพที่ 2 จุดจ้ำเลือดออกบริเวณผิวหนังตามลำตัว (ลูกศรชี้)
ภาพที่ 3 เลือดออกตามเยื่อบุในช่องปาก (ลูกศรชี้)
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด ที่เรียกว่า การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (Complete Blood Count: CBC) กล่าวคือ การตรวจนับทั้ง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือด ซึ่งในโรคนี้จะพบว่า เกล็ดเลือดต่ำ โดยคนปกติจะมี เกล็ดเลือดมากกว่า 150,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร (ลบ.มม.) อาจจะพบว่า ซีด หรือความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำลงได้ ถ้ามีอาการเลือดออกเรื้อรังมานาน หรือมีเลือดออกปริมาณมาก โดยทั่วไป โรคนี้จำนวนเม็ดเลือดขาวจะปกติ ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การตรวจไขกระดูก จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ หรือ อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นอาการ หรือ อาการแสดงของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นต้น
การรักษา
การรักษาและความเร่งด่วน โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด ต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อาการเลือดออกที่เกิดขึ้น รุนแรงและเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด พฤติกรรมของเด็กแต่ละคน เช่น เป็นเด็กซน ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กระทบกระแทก หรือบาดแผลได้ และจำนวนเกล็ดเลือดที่ตรวจจากห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ และร่วมปรึกษากับผู้ปกครองว่าจะรักษาด้วยยา หรือ ใช้การสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด การรักษาด้วยยา เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดเพิ่อหยุดเลือดออกเท่านั้น แต่ไม่เปลี่ยนพยากรณ์โรค
การรักษาด้วยยาในโรคนี้ ยาหลักในการรักษาคือ ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อกดภูมิต้านทานร่างกายในการสร้างแอนติบอดี้มาทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะใช้ขนาดสูงระยะสั้น ๆ หรือ ขนาดปานกลางระยะยาว แต่โดยทั่วไปไม่ควรให้ยาเกิน 2 สัปดาห์ เพราะจะพบผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ได้ เช่น หน้าบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้น อารมณ์หงุดหงิด เป็นต้น โดยทั่วไปการใช้ยาสเตียรอยด์ จะพบการตอบสนองกล่าวคือ เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ประมาณ 5-7 วันหลังได้ยา
ยาอิมมิวโนโกลบูลินให้ทางเส้นเลือด ( Intravenous Immunoglobulin: IVIG) เป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนำมาใช้รักษาโรคนี้ ยาตัวนี้ต้องให้ทางเส้นเลือด นาน 8-12 ชั่วโมง 1-2 วันต่อกัน การตอบสนองต่อยาตัวนี้จะรวดเร็วกว่า คือ เกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้น 1-2 วันหลังได้ยา แต่เนื่องจากยาตัวนี้มีราคาแพงมาก จึงจะใช้ยานี้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้ป่วยมีจำนวนเกล็ดเลือดที่ต่ำมาก ร่วมกับอาการเลือดออกที่รุนแรง ผลข้างเคียงของยาตัวนี้ คือ มีอาการแพ้แบบรุนแรงได้ เนื่องจากยาตัวนี้ทำมาจากน้ำเหลืองของคน ปวดศีรษะ เป็นต้น
การดำเนินของโรค
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดในเด็กมีพยากรณ์โรคที่ดี กล่าวคือ ประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยเด็ก สามารถมีเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นเองได้ ภายใน 3 เดือน และประมาณ 80%จะมีเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นได้เอง ภายใน 1 ปี โดยไม่ขึ้นกับว่าจะรักษาด้วยยา หรือการสังเกตอาการ มีผู้ป่วยประมาณ 20%ที่มีการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง กล่าวคือ มีเกล็ดเลือดต่ำเกิน 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นเองได้ แต่ใช้เวลาหลายปี จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลติดตามอาการต่อเนื่อง