การดูแลตนเองขณะรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
ผศ.นพ.ธนาวัฒก์ รัตนธรรมเมธี
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันพบอุบัติการณ์ของมะเร็งเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต รวมทั้งวิธีการรักษาโรคมะเร็งมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหนึ่งในการรักษามาตรฐานของมะเร็งหลาย ชนิด ซึ่งมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันไปขึ้นกับชนิด และระยะของมะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา
เคมีบำบัดส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งทำให้เซลล์มะเร็งเกิดการเสื่อมสลาย แต่ในขณะเดียวกันนั้นเคมีบำบัดจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงไปด้วย รวมถึงผลข้างเคียงอื่น การปฏิบัติตัวขณะที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลข้างเคียงจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรักษา ทำให้การรักษาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร อาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งความเสี่ยงต่าง ๆ จากยาเคมีบำบัดนั้น สามารถป้องกันได้โดยการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี
มีหลักในการเฝ้าระวังพฤติกรรมในระหว่างที่กำลังอยู่ในช่วงรับยาเคมีบำบัด โดยสามารถมีวิธีการจำอย่างง่าย ๆ คือ หลัก "4อ." ซึ่งเป็นอักษรย่อของพฤติกรรมที่ควรกระทำเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา รวมถึงส่งเสริมให้ผลของการรักษาเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย ประกอบไปด้วย 1. อาหาร 2.อารมณ์ 3. อากาศ 4. ออกกำลังกาย
อาหาร
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด มี 2 สิ่งที่สำคัญ คือ ครบหมู่ และ สุกสะอาด ประเภทของอาหารนั้นควรทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่) เนื่องจากอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ทั้งเนื่องมาจากผลของโรคมะเร็งเอง และ/หรือผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดมวนท้อง การรับประทานแบบครบหมู่ทำให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการอ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายสดชื่น และทนต่อการรักษาได้จนครบตามกำหนด ไม่ควรงดหรือละเว้นอาหารหมู่ใดหมู่หนึ่งเป็นพิเศษ และที่สำคัญคือ ความสุกสะอาดของอาหารที่ต้องมีเสมอทุกครั้ง โดยหลักคือต้องทานอาหารที่ผ่านความร้อน ทำให้สุกด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยหลักสำคัญคือ ถ้านึกได้ว่าอาหารยังไม่ผ่านความร้อนควรทำให้สุกก่อนเสมอ ในกรณีที่ต้องการรับประทานผักควรทำให้สุก เช่น ต้ม ผัด ก่อนเสมอ ส่วนผลไม้นั้นควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเปลือกหนาและต้องปลอกเปลือกก่อนรับประทาน เช่น ส้ม กล้วย เนื่องจากกรณีที่เป็นผลไม้เปลือกบางหรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก อาจพบว่ามีหนอนเจาะเข้าไปในเนื้อผลไม้ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย อันส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้
อารมณ์
อารมณ์ส่งผลต่อสภาพร่างกาย และจิตใจโดยตรง อารมณ์มักจะแปรปรวนได้ง่ายในขณะที่ร่างกายมีโรค ไม่สุขสบาย รวมทั้งผลจากการรักษา ทั้งในแง่ของผลข้างเคียงยา สภาพแวดล้อมจากการเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ ของผู้ป่วย พบเจอสภาพผู้คนที่ไม่สบายที่หลากหลาย ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า รู้สึกผิด สิ่งเร้าเหล่านี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ซึ่งวิธีการจัดการกับอารมณ์ที่ดีคือ รับรู้ถึงความเป็นจริงของโรคของตนเองว่าเป็นโรคอะไร กำลังทำการรักษาอย่างไร จากนั้นทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นไปของร่างกาย การรับรู้ความจริง และความเข้าใจโรคทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปรับอารมณ์ระหว่างการรักษา จากนั้นควรฝึกจิตให้กำหนดรู้ ว่าร่างกายรู้สึกอย่างไร ดีขึ้น แย่ลง เพราะเหตุใด ร่วมกับการฝึกสมาธิด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เขียนสมุดบันทึกเรื่องราวขณะรับการรักษา เมื่อกำหนดรู้และมีสมาธิที่มั่นคงอยู่กับตัวเองอย่าผสม่ำเสมอ จะทำให้อารมณ์ไม่แปรปรวนและลดความกังวลลงได้
อากาศ
อากาศ หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ผู้ป่วยขณะกำลังรับการรักษาควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศปลอดโปร่ง มีการหมุนเวียนอากาศถ่ายเท เข้าออกตลอดเวลา ไม่เป็นห้องอับ ทำความสะอาดห้องอย่างสม่ำเสมอ หมั่นเปิดม่านให้แสงแดดส่องถึงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมบริเวณชุมชนที่มีผู้คนปริมาณมาก เนื่องจากอาจมีคนที่ไม่สบายปะปนอยู่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ นอกจากนั้น ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ป้องกันไม่เกิดอุบัติเหตุภายในที่พักอาศัย เช่น จัดสภาพห้องให้เป็นระเบียบ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุไม่ควรอาศัยชั้นบนที่ต้องเดินขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ตกบันได เป็นต้น
ออกกำลังกาย
ผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดอยู่ สามารถออกกำลังกายได้ โดยเลือกประเภทของการออกกำลังที่เข้าได้กับวิถีชีวิตและสภาพร่างกายของตนเอง โดยการออกกำลังกายที่แนะนำควรเป็นชนิดที่ออกแรงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20-30 นาที ความสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้งด้วยความพยายามพอประมาณไม่ฝืนจนเกินไป เช่น เดิน, โยคะบำบัด, วิ่ง,ปั่นจักรยาน,ว่ายน้ำ โดยหมั่นสังเกตสภาพร่างกายของตนเองเสมอถึงความหนักความเบาไม่ให้เกินพอดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้รับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้สภาพอารมณ์สมดุลมากยิ่งขึ้น
หลักประพฤติปฏิบัติตนทั้ง 4 อย่างนี้ เปรียบเสมือนปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตขณะรับการรักษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งร่างกาย จิตใจ ช่วยเพิ่มความร่วมมือในการรักษาระหว่างผู้ป่วยและทีมรักษา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น