การรักษาโรคที่ต้องพึ่งพาการให้เลือดแดง
พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เลือดและส่วนประกอบของเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในเลือดที่เราบริจาค จะถูกแยกส่วนประกอบของเลือดออกเป็น เลือดแดงอัดแน่น (packed red cells) น้ำเหลืองหรือพลาสมา (plasma) และเกล็ดเลือด (platelet) และจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสมที่ธนาคารเลือดเพื่อนำไปให้ในผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยเลือดและส่วนประกอบของเลือดต่อไป
การรักษาด้วยเลือดแดงอัดแน่น
เลือดแดงอัดแน่นจำเป็นในการรักษาเพื่อแก้ไขภาวะโลหิตจางที่รุนแรงที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้ หรือที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทดแทนได้ทัน มีโรคมากมายที่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยเลือดแดงอัดแน่น จึงขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้
-
ภาวะเลือดออกจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัดและคลอดบุตรหากมีการเสียเลือดในปริมาณมากและเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ร่างกายจะไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทดแทนได้ทัน จึงจำเป็นต้องให้เลือดทดแทนอย่างทันท่วงที หากไม่สามารถหาเลือดทดแทนได้ทัน อาจมีผลทำให้แรงดันโลหิตต่ำและผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
-
โรคโลหิตจางธัลลัสซีเมีย (Thalassemia)ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดจากการแปรผันของหน่วยพันธุกรรมทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงที่ตัวเล็ก รูปร่างผิดปกติ ทำให้ถูกทำลายที่ม้ามอย่างรวดเร็ว ดังนั้นอายุไขของเม็ดเลือดแดงจึงสั้นกว่าทั่วไป ผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจางตั้งแต่เด็ก ในรายที่รุนแรงน้อยจะไม่จำเป็นต้องให้เลือด แต่ในรายที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรงจำเป็นต้องได้รับเลือดทดแทนเพื่อให้หัวใจทำงานได้เป็นปกติ ช่วยแก้ไขอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย และเสริมสร้างการเจริญเติบโตของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยโรคโลหิตจางธัลลัสซีเมียที่รุนแรงจะจำเป็นต้องได้รับเลือดโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ถุงต่อเดือนไปจนตลอดชีวิต
-
โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)ไขกระดูกเป็นแกนกลางของกระดูกทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด หากไขกระดูกฝ่อซึ่งเกิดจากภูมิต้านทานตนเองทำลายไขกระดูก หรือเกิดจายา สารเคมี รังสี และสารพิษต่าง ๆ มาทำลายไขกระดูก ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้ ผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจางจึงซีด อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย มีภาวะติดเชื้อรุนแรงเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ช่วยต้านทานเชื้อโรคมีปริมาณต่ำ มีภาวะเลือดออกตามร่างกายเนื่องมาจากเกล็ดเลือดที่ช่วยป้องกันเลือดออกมีปริมาณลดลง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อจะไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เองทุกชนิด ในผู้ที่เป็นรุนแรงจะจำเป็นต้องได้รับทั้งเลือดแดงและให้เกล็ดเลือด ผู้ป่วยจะจำเป็นต้องได้รับเลือดและเกล็ดเลือดทดแทนจนกว่าไขกระดูกจะฟื้นตัวและกลับมาสร้างเม็ดเลือดใหม่ได้ หากไขกระดูกไม่ฟื้นตัว ผู้ป่วยจะจำเป็นต้องได้รับเลือดแดงและเกล็ดเลือดตลอดชีวิต
-
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหรือลิวคีเมีย (acute leukemia)เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนอย่างมากมายในไขกระดูก ทำให้มีเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนออกมาให้กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการของไขกระดูกทำงานผิดปกติเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเหล่านี้เพิ่มจำนวนจนไปแทนที่เซลล์สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยจึงซีดและอ่อนเพลีย ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดขาวตัวแก่ซึ่งช่วยป้องกันเชื้อโรค ทำให้ผู้ป่วยมีไข้จากการติดเชื้อที่รุนแรง และไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ ทำให้มีภาวะเลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจึงจำเป็นได้รับเลือดแดงและเกล็ดเลือดไปจนกว่าการรักษาเพิ่มเติมด้วยยาเคมีบำบัดจะสามารถทำลายเซลล์มะเร็ง และเปิดโอกาสให้เซลล์สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกกลับมาทำงานเป็นปกติได้
โดยสรุป การให้เลือดแดงอัดแน่นมีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ยังมีโรคอีกมากมายที่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยเลือดแดงนี้ ดังนั้นการบริจาคเลือดเพื่อให้มีเลือดเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาและต่อชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวต่อไป