การรักษาโรคที่ต้องพึ่งพาการให้เกล็ดเลือด
พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เลือดและส่วนประกอบของเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในเลือดที่เราบริจาค จะถูกแยกส่วนประกอบของเลือดออกเป็น เลือดแดงอัดแน่น (packed red cells) น้ำเหลืองหรือพลาสมา (plasma) และเกล็ดเลือด (platelet) และเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสมที่ธนาคารเลือดเพื่อนำไปให้ในผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยเลือดและส่วนประกอบของเลือดต่อไป
การรักษาด้วยเกล็ดเลือด
เกล็ดเลือดเป็นส่วนประกอบของเลือดที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เลือดซึมออกจากหลอดเลือดในภาวะปกติและช่วยทำให้เลือดหยุดหากมีบาดแผลเกิดขึ้น เกล็ดเลือดจึงมีส่วนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ โดยจะขอยกตัวอย่างโรคที่จำเป็นต้องให้เกล็ดเลือดดังนี้
-
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากการติดเชื้อ เช่น โรคไข้เลือดออก ที่ไวรัสก่อโรคส่งผลให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะดีไอซีหรือภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดอย่างแพร่กระจาย (disseminated intravascular coagulopathy, DIC) ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดต่ำรุนแรงได้ ทำให้เลือดจะซึมออกเองโดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล โดยเลือดมักออกเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาดประมาณหัวเข็มหมุดตามผิวหนังและมีเลือดซึมออกจากเยื่อบุต่าง ๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล และอาจรุนแรงจนกระทั่งมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะและในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นการให้เกล็ดเลือดทดแทนจะช่วยทำให้เลือดหยุดได้ กระทั่งเมื่อภาวะติดเชื้อดีขึ้น เกล็ดเลือดจึงจะกลับขึ้นมาเป็นปกติ
-
โรคของไขกระดูก (bone marrow defect) ไขกระดูกเป็นแกนกลางของกระดูกทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ดังนั้นหากมีโรคในไขกระดูกผู้ป่วยจะไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ตัวอย่างเช่น โรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) ซึ่งเกิดจากภูมิต้านทานตนเองทำลายไขกระดูก หรือเกิดจากยา สารเคมี รังสี และสารพิษต่าง ๆ ทำลายไขกระดูก นอกจากนี้โรคมะเร็งในไขกระดูก เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (leukemia) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะเข้าไปแทนที่เซลล์สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก ไขกระดูกจึงทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ ได้ อาการของผู้ป่วยที่มีโรคของไขกระดูก จะมีอาการซีดและอ่อนเพลียจากโลหิตจาง มีไข้จากการติดเชื้อเนื่องจากเม็ดเลือดขาวซึ่งช่วยป้องกันเชื้อโรคมีจำนวนลดลง และมีเลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเนื่องจากไขกระดูกไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นได้รับเลือดแดงและเกล็ดเลือดไปจนกว่าโรคของไขกระดูกจะสามารถรักษาให้ดีขึ้นทำให้ไขกระดูกสามารถกลับมาสร้างเม็ดเลือดรวมถึงเกล็ดเลือดได้ตามปกติ
โดยสรุป การให้เกล็ดเลือดมีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ยังมีโรคอีกมากมายที่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยเกล็ดเลือดนี้ ดังนั้นการบริจาคเลือดเพื่อให้มีเลือดเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาและต่อชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวต่อไป