ความรู้สู่ประชาชน

อาการปวดหลัง อาจเป็นอาการนำของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา

ผศ.นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาหรือเอ็มเอ็ม (multiple myeloma; MM) เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าพลาสมาเซลล์  (plasma  cell)  ในไขกระดูก และสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการสำคัญของโรค 4 ประการได้แก่ ซีด ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูง และปวดกระดูก  ส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป

สาเหตุของโรค  

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคแต่มีสมมุติฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมบางอย่างได้เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช สารเคมีบางชนิด การสัมผัสสารกัมมันตรังสี จึงยังไม่มีแนวทางป้องกันโรคนี้อย่างชัดเจน    

ระบาดวิทยา

พบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ  0.5-1คนต่อประชากร  1แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด โรคนี้พบในผู้ใหญ่  ในประเทศไทยพบว่าอายุเฉลี่ยเท่ากับ 59ปี (โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 19-95ปี) และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย  

กลไกการเกิดโรคและอาการของโรค

ในภาวะปกติพลาสมาเซลล์มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แต่เมื่อพลาสมาเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งแล้ว  จะไม่สามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันปกติออกมาได้  แต่จะสร้างโปรตีนและหลั่งสารผิดปกติออกมาแทนทำให้เกิดอาการของโรคได้แก่

ภาวะซีดจากการที่เซลล์มะเร็งไปแทนที่เซลล์เม็ดเลือดแดงปกติในไขกระดูก และหลั่งสารซึ่งลดการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

ภาวะไตวาย จากโปรตีนผิดปกติที่เซลล์มะเร็งหลั่งออกมามีพิษต่อไต ทำให้ไตวาย มีอาการบวม ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน

อาการปวดกระดูก กระดูกหักง่าย จากการที่เซลล์มะเร็งหลั่งสารเพิ่มสลายกระดูกและลดการสร้างกระดูก นอกจากนี้ทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้มีอาการซึมได้ 

อาการปวดหลังหรือปวดกระดูกอย่างไร ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา

            แพทย์จะสงสัยโรคนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังหรือปวดกระดูกเรื้อรัง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจมีอาการปวดในช่วงกลางคืน ร่วมกับอาการอื่นของโรคโดยเฉพาะอาการซีด อ่อนเพลีย ทำการตรวจเลือดแล้วพบว่า มีภาวะไตวาย ระดับแคลเซียมสูง หรือมีโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ ทำการเอ็กซเรย์กระดูกพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรค นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมของโรคมะเร็งทั่วไปเช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในกรณีที่มีกระดูกหักในตำแหน่งซึ่งพบไม่บ่อยหรือไม่สัมพันธ์กับอุบัติเหตุก็จะทำให้สงสัยโรคนี้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรค

            ทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบความผิดปกติอย่างน้อย 1 อย่างจาก 4 อย่างได้แก่ ซีด ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูง และรอยโรคที่กระดูก ร่วมกับการตรวจเลือดหาโปรตีนที่ผิดปกติซึ่งหลั่งออกมาจากเซลล์มะเร็ง และการตรวจไขกระดูกพบว่ามีพลาสมาเซลล์ผิดปกติเพิ่มขึ้น

การรักษาและการพยากรณ์โรค

            โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด อัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยเอเชียอยู่ที่ประมาณ 4 ปี การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งของตัวโรคและผู้ป่วยเช่น อายุ สุขภาพโดยรวม ภาวะโรคอื่นๆที่เป็นร่วมด้วย ผู้ป่วยอายุน้อยและมีสุขภาพแข็งแรงสามารถรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ เพื่อทำให้โรคสงบนานที่สุด ส่วนผู้ป่วยสูงอายุอาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดรับประทาน ร่วมกับการรักษาประคับประคองเช่น การให้เลือดในกรณีที่มีอาการซีด การให้ยาเพื่อลดการทำลายกระดูก การให้ยาแก้ปวดในกรณีที่มีอาการปวดกระดูกเป็นต้น การรักษาด้วยการฉายแสงหรือผ่าตัดอาจทำในบางกรณีเพื่อลดอาการจากโรคเฉพาะที่

เอกสารอ้างอิง

1.       Dispenzieri A, Lacy MQ, Greipp PR. Multiple myeloma. In: Greer JP, Foerster J, Rodgers GM, et al, eds. Wintrobe’s Clinical Hematology Textbook, 12th edition. Lippincott Williams & Wilkins, Philadelphia, USA; 2009. P.2372-438.

2.       Kim K, Lee JH, Kim JS, et al. Clinical profiles of multiple myeloma in Asia—An Asian Myeloma Network study. Am J Hematol 2014;89:751–6.

3.       Rajkumar SV, Dimopoulos MA, Palumbo A, et al. International Myeloma Working Group updated criteria for the diagnosis of multiple myeloma. Lancet Oncol 2014;15:e538–48.

รูปที่ 1ภาพเอ็กซเรย์กระดูกกะโหลกศีรษะของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา พบมีการทำลายกระดูกเป็นหย่อมๆ

รูปที่ 2ภาพเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา พบว่ามีภาวะกระดูกบางและมีการยุบตัวของกระดูกสันหลังส่วนกลางอก