เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต
ผศ.ดร.พญ.ไปรยา รุจิโรจน์จินดากุล
โลหิตมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต การบริจาคโลหิตจึงถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ บางคนเคยมีประสบการณ์บริจาคมาแล้ว แต่หลายคนอาจจะกำลังตัดสินใจและมีคำถามเกี่ยวกับการบริจาคโลหิต บทความนี้จึงรวบรวมประเด็นปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตมาฝาก
ใครสามารถบริจาคโลหิตได้บ้าง
ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปีและมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง ก่อนมาบริจาคโลหิต ควรเตรียมความพร้อมโดยนอนพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนมาบริจาค
การบริจาคโลหิตมีขั้นตอนอย่างไร
การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเริ่มจากการกรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคโลหิต เพื่อให้ผู้บริจาคโลหิตได้ตรวจสอบคุณสมบัติด้วยตนเอง หลังจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจความเข้มข้นของเลือด ขั้นตอนการเจาะเก็บโลหิตจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เมื่อบริจาคเสร็จแล้วควรรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เตรียมไว้ให้ และนั่งพักอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลของน้ำ เมื่อปกติดีแล้วจึงเดินทางกลับ
หลังบริจาคโลหิตควรปฏิบัติตัวเช่นไร
ภายใน 1 วันหลังบริจาคโลหิต ควรดื่มน้ำเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 1 ลิตร งดซาวน่าหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย การปีนป่ายที่สูงหรืองานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ให้นอนพักและยกเท้าสูงจนกว่าอาการจะดีขึ้น งดการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะหรือหิ้วของหนัก ควรปิดผ้าพันแผลไว้และห้ามโดนน้ำประมาณ 5 ชั่วโมง ถ้ามีเลือดออกจากรอยเจาะเลือด ให้กดผ้าก๊อสปิดแผลให้แน่นและยกแขนสูง 3-5 นาที ถ้าเลือดยังไหลไม่หยุดให้กลับไปยังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์ ถ้าภายใน 24 ชั่วโมงแรก มีรอยช้ำหรือจ้ำเลือดบริเวณที่เจาะเลือด ให้ประคบเย็น แต่ถ้าเกิดรอยช้ำหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ประคบอุ่น กว่ารอยช้ำจะหาย ต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน ถ้ารอยช้ำมีขนาดใหญ่หรือปวด ชาบริเวณที่เจาะมากผิดปกติ ให้กลับไปพบแพทย์ หลังบริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และรับประทานยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ดจนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
การบริจาคโลหิตจะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์หรือไม่
ทุกขั้นตอนของการเจาะโลหิตต้องใช้เทคนิคที่ทำให้ปราศจากเชื้อ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเจาะโลหิตเป็นอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เข็มและถุงบรรจุโลหิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้นผู้บริจาคโลหิตจะไม่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากการบริจาคโลหิต
โลหิตที่บริจาคจะได้รับการตรวจอะไรบ้าง
ก่อนนำไปให้ผู้ป่วย โลหิตทุกถุงจะได้รับการตรวจหมู่เลือดเอบีโอ หมู่เลือดอาร์เอช ตรวจเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี ถ้าผู้บริจาคมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อเหล่านี้ ก็ไม่ควรมาบริจาคโลหิตเพื่อหวังผลการตรวจเชื้อ เพราะการทดสอบเหล่านี้จะตรวจพบเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อ ก็ต่อเมื่อท่านได้รับเชื้อมานานเกินสัปดาห์และมีปริมาณเชื้อในโลหิตสูงพอ ดังนั้นถ้าท่านเพิ่งได้รับเชื้อมา ก็อาจตรวจไม่พบ และทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตเป็นอันตรายได้
โลหิต 1 ถุงจะช่วยผู้ป่วยได้อย่างไร
ห้องปฏิบัติการจะนำโลหิตไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบของโลหิต 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดและพลาสมา ดังนั้นโลหิต 1 ถุงจากท่านจะสามารถนำไปช่วยผู้ป่วยได้ถึง 3 คน โดยเม็ดเลือดแดงจะนำไปใช้ในผู้ป่วยที่ซีดหรือเสียเลือด เกล็ดเลือดจะนำไปให้ผู้ป่วยที่เกล็ดเลือดต่ำหรือมีเลือดออก และพลาสมาจะนำไปให้ผู้ป่วยที่มีปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
เมื่อบริจาคโลหิตโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ทำไมโรงพยาบาลจึงคิดค่าบริการเมื่อผู้ป่วยได้รับโลหิต
ค่าบริการที่โรงพยาบาลคิดไม่ใช่ค่าโลหิต แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเตรียม เช่น ถุงบรรจุโลหิต น้ำยาที่ใช้ในการตรวจหมู่โลหิต ตรวจเชื้อ ตรวจความเข้ากันได้ของโลหิตก่อนให้ผู้ป่วย เป็นต้น
ผู้บริจาคโลหิตจะมีผลแทรกซ้อนในระยะยาวจากการบริจาคโลหิตหรือไม่
ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน โดยไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริจาคโลหิตประจำจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีอายุยืนกว่า และมีโอกาสเกิดโรคหัวใจหรือมะเร็งต่ำกว่าประชากรทั่วไป