ความรู้สู่ประชาชน

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตในเด็ก

http://www.si.mahidol.ac.th/th/person/person_images/461_0.jpg
รศ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล
สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตในเด็ก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ สามารถพบได้ในเด็กปกติ หรือเป็นอาการแสดงนำของโรคต่างๆ ได้มากมาย โดยพบว่า ในเด็กปกติสามารถพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่คอโตเกือบร้อยละ 50 โดยทั่วไปสาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตในเด็กมักจะเป็นภาวะไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่เนื่องจากอาจจะเป็นอาการแสดงของโรครุนแรงได้ เช่น โรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคเนื้องอก เป็นต้น

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดโตมากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ในเด็กสามารถพบต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดดังกล่าวในภาวะปกติได้ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองนั้นๆ กล่าวคือ ถ้าต่อมน้ำเหลืองที่ตำแหน่งคอและรักแร้ ที่โตมากกว่า 1 เซนติเมตร ขึ้นไป หรือ ที่ตำแหน่งขาหนีบ ที่โตมากกว่า 1.5 เซนติเมตร ขึ้นไปถือว่าเป็นภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่ผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ส่วนต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งท้ายทอย, หลังหู, ใต้คาง, ข้อพับ และ เหนือข้อศอก จะโตขึ้นได้เมื่อมีการติดเชื้อหรืออักเสบบริเวณใกล้เคียง ส่วนต่อมน้ำเหลืองโตที่ตำแหน่ง เหนือไหปลาร้า เป็นตำแหน่งที่ผิดปกติเสมอ ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไรก็ตาม ถ้าตรวจพบควรจะให้การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเสมอ นอกจากนี้ขนาดและตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองแล้ว ระยะเวลาที่ต่อมน้ำเหลืองโต และจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่โต กล่าวคือ ต่อมน้ำเหลืองโตเฉพาะที่ หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตหลายตำแหน่ง ก็มีความสำคัญที่จำเป็นจะต้องตรวจหาเพื่อหาสาเหตุและให้การวินิจฉัยให้ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

1.  ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 2 เซนติเมตรขึ้นไป

2.  ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นเรื่อยๆ ในเวลา 2 สัปดาห์

3.  ต่อมน้ำเหลืองขนาดไม่ลดลงหลังได้รับการรักษาแล้ว 4-6 สัปดาห์

4.  ต่อมน้ำเหลืองที่โตนั้น ขนาดไม่เล็กลงกลับมาปกติ ภายใน 8-12 สัปดาห์

5.  ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่ไม่ดีขึ้น หรือขนาดไม่ลดลง หลังได้รับยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุม 1-2 สัปดาห์

6.  ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต โดยไม่มีอาการทาง หู คอ จมูก

7.  ต่อมน้ำเหลืองโต พบร่วมกับ ภาพเอกซ์เรย์ปอดผิดปกติ

8.  ต่อมน้ำเหลืองโต ตำแหน่ง เหนือไหปลาร้า

9.  ต่อมน้ำเหลืองโตที่ค่อนข้างแข็ง และอยู่เป็นกลุ่ม ไม่เจ็บ

10. ต่อมน้ำเหลืองโต ที่มีอาการร่วม คือ ไข้ น้ำหนักลด ปวดข้อ ตับม้ามโต

การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การตรวจภาพถ่ายทางรังสีวิทยา และ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยผู้ป่วยถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

1. จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อาจจะเป็นโรคมะเร็งได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองค่อนข้างแข็ง และอยู่เป็นกลุ่ม ไม่เจ็บ มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด เป็นต้น

2. ต่อมน้ำเหลืองโต ขนาด 2.5 - 3 เซนติเมตร โดยไม่มีอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือการติดเชื้อ

3. ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น หรือขนาดเท่าเดิม เมื่อได้รับการดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างเหมาะสมแล้ว

4. ต่อมน้ำเหลืองที่มีอาการอักเสบมีขนาดโตขึ้น หรือเท่าเดิม หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้ว อย่างน้อย 2 สัปดาห์

5. ต่อมน้ำเหลืองโตที่ตำแหน่งเหนือไหปลาร้า