การตรวจ PET SCAN กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผศ.ป.พญ.มนัสมนต์ นาวินพิพัฒน์
หน่วยโลหิตวิทยาและเซลล์บำบัด
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
เครื่อง PET SCAN คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
เครื่อง เพ็ทสแกน มี PET/CT scan และ PET/MRI scan เป็นเครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกันของเครื่อง PET(Positron Emission Tomography) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography or CT) หรือ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging or MRI) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจรอยโรคมะเร็ง สามารถตรวจรอยโรคขนาดเล็ก สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในในระดับโมเลกุล สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ (Metabolic/Molecular imaging)และแสดงภาพผสานระหว่างกายวิภาคและเมตาบอลิซึม (Anatomical/Functional imaging ) ช่วยเพิ่มข้อมูลในการวิเคราะห์ ความผิดปกติของสารประกอบในเนื้อเยื่อมะเร็งได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การเลือกการตรวจว่าควรตรวจ PET/CT scan หรือ PET/MRI scan ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
บทบาทของ PET SCAN ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ในการตรวจรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะตรวจ PET SCAN เพื่อ
1. การวินิจฉัยโรคมะเร็ง (Diagnosis)
2. การประเมินระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Staging and Restaging)
3. การประเมินระยะของโรคมะเร็งในรายที่มีการกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrence)
4. การประเมินการตอบสนองของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ การฉายแสง (Evaluation of treatment or Interim response or End of treatment)
5. การพยากรณ์โรค (Prognosis)
การทำ PET SCAN ในการวินิจฉัยและการประเมินระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ช่วยแบ่งระยะของโรคได้ถูกต้องแม่นยำและให้การรักษาได้เหมาะสมกับระยะโรค นอกจากนี้ยังสามารถทดแทนการเจาะไขกระดูกได้ด้วย หากผู้ป่วยทำ PET SCAN ในการดูระยะของโรคในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin Lymphoma ไม่ต้องทำการตรวจไขกระดูกได้ และการทำ PET SCANยังใช้ในการประเมินการตอบสนองต่อการรักษาของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการประเมินหลังการได้รับยาเคมีบำบัด 2 รอบ ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin Lymphoma หากยังเหลือรอยโรค (Interim PET SCAN positive) อาจมีการเปลี่ยนสูตรยาเคมีบำบัดให้แรงขึ้น และหากรอยโรคยังเหลืออยู่หลังได้รับการรักษา (Interim PET scan positive) นั้นพบว่ามีผลต่อการพยากรณ์ของโรคที่แย่กว่าด้วย และจะมีการประเมินโรคอีกครั้งโดยการทำPET SCAN หลังรอบสุดท้ายของเคมีบำบัดเพื่อวิเคราะห์ความสำเร็จของการรักษาและยังเหลือรอยโรคที่จะต้องการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่ซึ่งมีผลในการประเมินรอยโรคที่เหลืออยู่อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในบางรายมีผลต่อการประเมินการรักษาด้วยการฉายแสงต่อหรือไม่ หากเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin’s lymphoma การประเมินการตอบสนองของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทำหลัง 3-4 รอบ และ หลังรอบสุดท้าย หลัง 6-8 รอบ ซึ่งมีผลในวิเคราะห์ความสำเร็จของการรักษาและยังเหลือรอยโรคที่จะต้องการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่ ในบางรายสามารถใช้ในการประเมินการรักษาว่าต้องการการฉายแสงหรือไม่อีกด้วย
การตรวจ PET SCAN ทำอย่างไร
การตรวจโดยวิธี PET/CT scan หรือ PET/MRI scan นี้ จะทำโดยฉีดสารเภสัชรังสีที่เป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสารเภสัชรังสีดังกล่าวนี้จะเข้าไปจับในบริเวณของรอยโรคที่มีความผิดปกติและเห็นได้จากการถ่ายภาพด้วยเครื่อง PET SCAN ซึ่งภาพที่ได้จะถูกประมวลผลโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาต่อไป สำหรับสารเภสัชรังสีที่ฉีดนั้นไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากมีปริมาณรังสีต่ำมาก และจะถูกขับออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะ
รูปที่ 1 PET/CT scan
ขั้นตอนการตรวจและการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ PET SCAN
1. ท่านจะได้รับการซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคและการรักษาที่ได้รับ
2. ท่านจะได้รับการชั่งน้ำหนัก และเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อหาระดับน้ำตาล ก่อนการตรวจ หากท่านเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และ/หรือมีระดับน้ำตาลที่มากกว่า 200 mg/dlจะไม่สามารทำการตรวจได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลมีผลต่อการจับสารเภสัชรังสีของรอยโรค จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลก่อน
3. เจ้าหน้าที่จะทำการเปิดเส้นเลือดดำ และฉีดสารเภสัชรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำให้แก่ท่าน
4. ให้ท่านนอนพักให้ห้องพัก ประมาณ 1 ชั่วโมง งดทำกิจกรรม งดพูดคุย
6. เมื่อครบ 1 ชั่วโมงแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ท่านเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ ก่อนจะเริ่มตรวจเพทสแกน โดยPET/CT SCAN จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10นาที และ PET/MRI SCAN ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1ชั่วโมง 30 นาที
7. เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านสามารถกลับบ้านได้ และรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทั้งนี้ควรดื่มน้ำมากๆเพื่อให้สารเภสัชรังสีถูกขับออกจากร่างกายได้โดยเร็ว และไม่ควรอยู่ใกล้ชิดเด็กและสตรีมีครรภ์หลังจากทำการตรวจอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
References
-PET-CT for staging and early response :results from the reponse adapted therapy in advanced Hodgkin lymphoma study.Blood 2016;127:1531-8
-Barington SF,et al J Clin Oncl.2014;32:3048-58
-El-Galaly TC, et al. J Clin Oncol 2012;30:4508-14, 2.Barrington SF, et al. Blood 2016;127:1531-8, 3. Voltin Ca, et al.Ann Oncol.2018;29:1926-31.
เผยแพร่เมื่อ 17 ส.ค. 66