โรคทางโลหิตวิทยากับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
นพ.นวชัย เลิศวิวัฒนพงษ์
หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก
กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ภาวะตัวเหลือง (Jaundice)เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 60-70 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด โดยเฉพาะในเชื้อชาติเอเชียตะวันออก จะพบว่ามีภาวะตัวเหลืองมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ถึงร้อยละ 31 สาเหตุเกิดจากสารเหลืองที่ชื่อว่า บิลิรูบิน (bilirubin) มีปริมาณสูงในเลือดมากกว่าปกติ (รูปภาพที่ 1) ซึ่งในทารกเกิดจากสาเหตุหลักดังนี้
1. การเพิ่มปริมาณของบิลิรูบินมากขึ้นกว่าปกติ มักเกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดง (hemolysis)
2. การสลายหรือขับออกของบิลิรูบินน้อยลง ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ตับขับบิลิรูบินน้อยลง จากเอนไซม์ในตับยังทำงานน้อยกว่าปกติ หรือ ทางเดินท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น
ดังนั้น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จึงเป็นภาวะทางโลหิตวิทยาที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด การแตกของเซลล์เม็ดเลือดแดงเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งได้ดังต่อไปนี้
1. เกิดจากภาวะของมารดา ก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น
1.1 ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน (Blood group incompatibility) ซึ่งมักเกิดจากมารดามีหมู่เลือดโอ (“O”) แต่บุตรมีหมู่เลือดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หมู่เลือดโอ ทำให้เกิดการเม็ดเลือดแดงแตก จากแอนติบอดีของมารดาจับกับเม็ดเลือดของบุตร หรือมารดามีหมู่เลือด Rh เป็นลบ แต่บุตรมีหมู่เลือด Rh เป็นบวก เป็นต้น
1.2 โรคประจำตัวของมารดาขณะตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดงในทารก เช่น มารดาเป็นเอสแอลอี (SLE) ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากการสร้างภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดง จะสามารถส่งผ่านภูมิคุ้มกันนั้น มาทำลายเม็ดเลือดแดงของบุตรได้เช่นกัน
1.3 ภาวะเลือดข้นในทารกแรกเกิด (Polycythemia) คือภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ จะทำให้ทารกตัวใหญ่กว่าปกติและเกิดภาวะเลือดข้น เมื่อมีปริมาณเลือดที่มากขึ้น สารบิลิรูบินในเลือดก็จะมากตามไปด้วย
2. เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดของทารก ที่ทำให้มีการแตกได้ง่ายกว่าปกติ เช่น
2.1 โรคธาลัสซีเมียชนิด ฮีโมโกลบินเอช (Hemoglobin H disease) มักเกิดจากมารดาและบิดาที่มีพาหะของธาลัสซีเมียชนิดแอลฟา มีโอกาสให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดฮีโมโกลบินเอช ซึ่งมีเม็ดเลือดแดงที่ไม่เสถียรและแตกตัวได้ง่ายเมื่อมีการกระตุ้น
2.2 โรคเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดแดงเป็นวงรี (Hereditary elliptocytosis)หรือเป็นทรงกลม (Hereditary spherocytosis)จากการสร้างโปรตีนที่เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงผิดปกติ มักเกิดจากมารดาหรือบิดาที่มีพาหะของโรคนี้ มีโอกาสให้กำเนิดบุตรที่มีการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงผิดปกติ และทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวได้ง่ายกว่าปกติ
2.3 ภาวะการขาดเอ็นไซม์ในเม็ดเลือดแดง ที่พบได้บ่อยคือการขาดเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD, Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase deficiency) ที่มีหน้าที่ในการเป็นเอนไซม์ที่ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ดังนั้นการขาดเอ็นไซม์นี้จึงทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ และแตกตัวในที่สุด นอกจากนี้ ภาวะนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ แต่ยังทำให้การทำงานของเอ็นไซม์ในตับ ที่ทำหน้าที่ขับบิลลิรูบินทำงานผิดปกติไปด้วย ทำให้เกิดการขับของบิลิรูบินน้อยลง ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตัวเหลืองในทารกที่พบได้บ่อยในประชากรชาวไทย ถึงร้อยละ 12 ในเพศชาย และ ร้อยละ 2 ในเพศหญิง และในภายหลังช่วงแรกเกิด เม็ดเลือดแดงยังเกิดการแตกตัวได้เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การติดเชื้อต่างๆ การได้รับยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา ยารักษามาลาเรีย การสัมผัสสารเคมี เช่น ลูกเหม็น การรับประทานถั่วปากอ้า เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะตัวเหลือง หากภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงมาก จะเข้าสู่ระบบประสาทและเกิดการสะสมในสมอง จนทำให้สมองถูกทำลายจากบิลิรูบินได้ ทารกจะมีอาการซึมหรือกระสับกระส่าย ดูดนมได้น้อยลง ตัวเกร็ง คอและหลังแอ่น ร้องเสียงแหลม และซึมลงเรื่อย ๆ จนเสียชีวิตได้ หรือเกิดภาวะสมองพิการถาวรได้
การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด จะรักษาตามข้อบ่งชี้ และความรุนแรงของภาวะตัวเหลือง ซึ่งประกอบไปด้วย
1. การส่องไฟ (Phototherapy) การส่องไฟในที่นี้ต้องใช้หลอดชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเท่านั้น ไม่สามารถใช้การผึ่งแดด หรือส่องด้วยหลอดไฟตามครัวเรือนได้ และต้องอยู่ในการดูแลของบุลากรทางการแพทย์ (รูปภาพที่ 2)
2. การเปลี่ยนถ่ายเลือด (exchange transfusion) เป็นการนำเลือดของทารกที่มีบิลิรูบินสูงออก แล้วเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ให้แก่ทารก วิธีการนี้ใช้สำหรับทารกที่มีบิลิรูบินสูงมาก หรือมีอาการที่สงสัยต่อการสะสมของบิลิรูบินในสมอง เพื่อลดปริมาณบิลิรูบินให้รวดเร็วที่สุด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดหลายสาเหตุสามารถป้องกันได้ ทั้งจากการฝากครรภ์ที่เหมาะสม สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง เนื่องจากจะมีการตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงของการเกิดโรคทางโลหิตวิทยาของมารดาและทารก และภายหลังจากการคลอด ผู้เลี้ยงควรหมั่นการสังเกตอาการ และภาวะตัวเหลืองในทารกต่อเนื่องที่บ้าน (รูปภาพที่ 3) เมื่อสังเกตว่าตัวเหลืองมาก ควรนำทารกมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจเลือดต่อไป
References
1. Setia S, Villaveces A, Dhillon P, Mueller BA. Neonatal Jaundice in Asian, White, and Mixed-Race Infants. Arch Pediatr Adolesc Med. 2002;156(3):276–279.
2. Ullah S, Rahman K, Hedayati M. Hyperbilirubinemia in Neonates: Types, Causes, Clinical Examinations, Preventive Measures and Treatments: A Narrative Review Article. Iran J Public Health. 2016 May;45(5):558-68.
3. Delaney M, Matthews C D. Hemolytic disease of the fetus and newborn: managing the mother, fetus, and newborn. Hematology Am Soc Hematol Educ Program 2015.2015(1): 146–151.
4. Cherepnalkovski AP, Krzelj V, Zafirovska-Ivanovska B, Gruev T, Markic J, Aluloska N, Zdraveska N, Piperkovska K. Evaluation of Neonatal Hemolytic Jaundice: Clinical and Laboratory Parameters. Open Access Maced J Med Sci. 2015 Dec 15;3(4):694-8.
5. Christensen D R, Yaish M H, Lemons S R. Neonatal Hemolytic Jaundice: Morphologic Features of Erythrocytes That Will Help You Diagnose the Underlying Condition. Neonatology. 1 June 2014; 105 (4): 243–249.
เผยแพร่เมื่อ 7 กค 2566