ความรู้สู่ประชาชน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตา (Ocular adnexal lymphoma หรือ Orbital lymphoma)

พญ.จันทิญา จันทร์สว่างภูวนะ

สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่เป็นองค์ประกอบของต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ลิมโฟไซด์ชนิดต่างๆ เช่น บีเซลล์ (B lymphocyte) ทีเซลล์ (T lymphocyte) และ natural killer cell เป็นต้น โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนมากเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองทำให้มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่มีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนน้อยเกิดที่เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลูกตา (ocular lymphoma) แบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่

      1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในลูกตา (intraocular lymphoma) คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของจอประสาทตา (retina) และน้ำวุ้นตา (vitreous) ซึ่งไม่ขอกล่าวในบทนี้

      2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตา (ocular adnexal lymphoma) คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเยื่อบุตา (conjunctiva), ต่อมน้ำตา (lacrimal gland), หนังตา (eyelid) และเบ้าตา (orbit) 

       ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตา (ocular adnexal lymphoma) จะมีอาการแสดงได้หลายอย่าง ได้แก่ มีก้อนที่หนังตาทำให้หนังตาบวมขึ้น (รูปที่1.และ 2.)

รูปที่ 1

รูปที่ 2

      หรือมีอาการคล้ายหนังตาตก มีก้อนที่บริเวณเบ้าตาทำให้ก้อนนั้นดันลูกตาส่งผลให้ตาโปนออกมา (รูปที่3.) เยื่อบุตาบวม (chemosis)

 

รูปที่ 3

      และมีเนื้องอกที่เยื่อบุตา เป็นต้น ส่วนใหญ่มักพบที่ตาข้างเดียว แต่มีประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่สามารถพบเป็น 2 ตาได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายทางตาและพิจารณาส่งตรวจละเอียดต่อไป เช่น การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ

      การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตาต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและการย้อมสีที่จำเพาะเพื่อระบุชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นๆเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยจะได้รับการส่งต่อมาพบโลหิตแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินระยะของโรคและการลุกลามของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น (staging) เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

      มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตาส่วนใหญ่เป็น B-cell non-Hodgkin lymphoma ชนิดโตช้า มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป (indolent lymphoma) มักพบรอยโรคเฉพาะที่ตาในระยะต้นๆยังไม่แพร่กระจาย และกลุ่มนี้จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี มะเร็งชนิดที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 50-60 คือ extranodal marginal zone lymphoma of mucosa-associated lymphoid tissue (MALT lymphoma) มะเร็งชนิดอื่นๆที่พบได้ คือ follicular lymphoma และsmall lymphocytic lymphoma/chronic lymphocytic leukemia เป็นต้น ทั้งนี้สามารถพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดโตเร็ว (aggressive lymphoma) ได้แก่ diffuse large B cell lymphoma ได้เช่นกัน การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อรอบตา ประกอบด้วย การฉายแสง การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็งนั้นๆ

 

*ขอขอบพระคุณผู้ป่วยและ ผศ.(พิเศษ) พญ.วรรณกรณ์ พฤกษากร ผู้เอื้อเฟื้อรูปภาพประกอบคำบรรยายมา ณ ที่นี้