ข้อบังคับของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย (ฉบับเพิ่มเติมแก้ไขใหม่ ปี พ.ศ. 2553)
หมวด 1 ชื่อ ตรา และที่ตั้ง
ข้อ 1. ชื่อสมาคม สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย" ใช้อักษรย่อ "สลท." ชื่อในภาษาอังกฤษใช้ "The Thai Society of Hematology" ใช้อักษรย่อ "TSH"
ข้อ 2. ตราของสมาคม สมาคมมีตราดังนี้ เป็นรูปวงกลมสีแดง มีรูปแผนที่ประเทศไทยสีขาวอยู่ตรงกลาง ขอบรอบนอกของวงกลมเป็นชื่อสมาคม ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ถ้าเป็นเข็มมีขอบนอกตัวหนังสือสีดำพื้นขาว กรอบรอบนอกเป็นสีแดง
ข้อ 3. ที่ตั้งสำนักงาน สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร
หมวด 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังต่อไปนี้
- 4.1 ส่งเสริม และสนับสนุน การศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัยในการแพทย์ เน้นหนักใน สาขาวิชาโลหิตวิทยา และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อความก้าวหน้าในวิชาการ และเพื่อนำความรู้และความก้าวหน้านั้น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน
- 4.2 เผยแพร่ แลกเปลี่ยน วิชาการ ประสบการณ์ และผลการศึกษาวิจัยในหมู่สมาชิก ส่งเสริมความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- 4.3 เผยแพร่ความรู้อันเกี่ยวกับการแพทย์ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน
- 4.4 ประสานงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับสมาคมและสถาบันการทางการแพทย์ อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- 4.5 ส่งเสริม ปรับปรุง และประสานงาน ในการบริการทางการแพทย์แก่ประชาชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสาขาวิชาโลหิตวิทยา
- 4.6 เพื่อพบปะ ปรึกษาหารือในระหว่างสมาชิก เพื่อหาหนทางให้วัตถุประสงค์ข้างต้นนี้สัมฤทธิ์ผล
หมวด 3 สมาชิกภาพ
ข้อ 5. ประเภทสมาชิกและคุณสมบัติของผู้สมัคร
- 5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่แพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาโลหิตวิทยา หรือสาขาอายุรศาสตร์โรคเลือด หรือสาขากุมารเวชศาสตร์โรคเลือด หรืออนุสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก
สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ แพทย์ที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุในข้อ 5.1 หรือบุคคลที่ได้รับปริญญา ทางวิทยาศาสตร์ หรือบุคคลอื่นที่ปฏิบัติงานหรือสนใจทางโลหิตวิทยา ที่คณะกรรมการเห็นสมควร
- 5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมเชิญเข้าเป็นสมาชิก
ข้อ 6. การเข้าเป็นสมาชิก ผู้ประสงค์จะเป็นสมาชิก ตามข้อ 5.1 และ 5.2 ให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนดไว้ต่อเลขาธิการ เมื่อคณะกรรมการบริหารได้ลงมติรับผู้นั้นเข้าเป็นสมาชิกแล้วให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ทราบพร้อมด้วยข้อบังคับของสมาคม
และให้ชำระค่าบำรุงทั้งหมด ตามประเภทของสมาชิก ภายใน 30 วัน นับแต่วันมีหนังสือแจ้งให้ทราบ
ข้อ 7. ค่าบำรุง
- 7.1 สมาชิกต้องเสียค่าบำรุงตามระเบียบของสมาคม สมาคมจะยังไม่ลงทะเบียนรับผู้สมัครใหม่เป็นสมาชิก จนกว่าผู้นั้นจะได้ชำระค่าบำรุงตามระเบียบ และเงินค่าบำรุงที่สมาชิกได้ชำระแล้วจักเรียกคืนไม่ได้
- 7.2 อัตราค่าบำรุง
- 7.2.1 สมาชิกสามัญ ค่าบำรุงตลอดชีพ 3,000 บาท
- 7.2.2 สมาชิกวิสามัญ ค่าบำรุงตลอดชีพ 1,200 บาท
ข้อ 8. สิทธิ สมาชิกมีสิทธิ:
- 8.1 ประดับเครื่องหมายของสมาคมได้
- 8.2 ได้รับเอกสารเกี่ยวกับกิจกรรมของสมาคม
- 8.3 เข้าร่วมการประชุมของสมาคม
- 8.4 ขอตรวจดูเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคมได้ โดยปฏิบัติตามระเบียบของสมาคม
- 8.5 เสนอความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร
- 8.6 สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหาร
- 8.7 มีสิทธิได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารตามข้อ 11.3 และข้อ 12.3
- 8.8 สมาชิกสามัญมีสิทธิได้รับการสนับสนุนทุนตามระเบียบของสมาคม
ข้อ 9. การพ้นจากสมาชิกภาพ
- 9.1 ตาย
- 9.2 ลาออก โดยมีหลักฐานยื่นต่อเลขาธิการ
- 9.3 ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม หรือมีความประพฤติเสียหาย ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของ สมาคมลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงที่เข้าร่วมประชุม
หมวด 4 การประชุมของสมาคม
ข้อ 10. การประชุมใหญ่
- 10.1 การประชุมใหญ่สามัญ
- 10.1.1 การนัดประชุมใหญ่สามัญ เลขาธิการจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสมาชิกไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนวันประชุม
- 10.1.2 องค์ประชุมนี้ต้องมีสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 25 คน
- 10.1.3 ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมเรียกประชุมใหญ่สามัญปีละครั้งก่อนสิ้นเดือนเมษายน เพื่อแถลงกิจการที่ได้กระทำไปในรอบปีที่แล้ว พิจารณาบัญชีงบดุล ปรึกษาหารือกิจการของสมาคม และแต่งตั้งผู้ตรวจบัญชีของสมาคม
- 10.1.4 มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน การประชุมออกเสียง เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด
- 10.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ การประชุมใหญ่วิสามัญอาจมีได้โดย
- 10.2.1 คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้เรียกประชุม
- 10.2.2 สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ขอให้เรียกประชุมโดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงเลขาธิการล่วงหน้าก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 14 วัน
- 10.2.3 องค์ประชุม และมติของที่ประชุม เช่นเดียวกับองค์ประชุมใหญ่สามัญ
- 10.2.4 การนัดประชุมใหญ่วิสามัญ เลขาธิการจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสมาชิกไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุม
- 10.3 การประชุมด่วน ในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ คณะกรรมการบริหารอาจให้เรียกประชุมสมาชิกสมาคม เพื่อพิจารณาเรื่องนั้นเป็นการด่วน โดยเลขาธิการจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง องค์ประชุมนี้ต้องมีสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 25 คน
หมวด 5 การเลือกตั้งคณะผู้บริหารสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
ข้อ 11. การเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการบริหาร
- 11.1 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้บริหารสมาคมตามวาระทุกสองปี
- 11.2 ให้คณะกรรมการผู้บริหารสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสมาคมเป็นคณะอนุกรรมการ เลือกตั้งไม่เกิน 5 ท่าน
- 11.3 ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้บริหารสมาคมจากสมาชิกสามัญ 10 ท่าน โดยเริ่มดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนครบวาระของคณะกรรมการผู้บริหาร
- 11.4 การดำเนินการเลือกตั้งแยกเป็น 2 วาระ วาระแรกเลือกนายกสมาคม หลังทราบผลการเลือกตั้งนายกสมาคมแล้ว จึงเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารอีก 9 ท่าน
- 11.5 ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งประกาศวาระการเลือกตั้งนายกสมาคมและจำนวนกรรมการบริหารเป็น 2 วาระ พร้อมทั้งกำหนดสถานที่ที่ยื่นบัตรสมัครรับเลือกตั้งกรรมการ ระยะเวลายื่นบัตรสมัครรับเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง สถานที่ เวลาที่นับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการเลือกตั้งให้สมาชิกทราบก่อนกรรมการชุดเดิมหมดวาระ 1 เดือน
- 11.6 ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมและไม่เป็นอนุกรรมการเลือกตั้งใน
ครั้งนั้น และมีคุณสมบัติตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ด้วย ดังนี้
- (1) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- (2) เป็นผู้ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
- (3) เป็นผู้ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
- 11.7 การสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเองเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ณ สถานที่ ภายในกำหนดระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศไว้ โดยระบุว่าสมัครเป็นนายกสมาคม คณะผู้บริหาร และระบุสถานที่ปฏิบัติงาน (โรงพยาบาลหรือสถาน พยาบาล) ผู้สมัครตำแหน่งนายกสมาคม จะต้องมี สมาชิกจำนวน 10 คน ลงนามรับรองในใบสมัครเลือกตั้ง
- 11.8 สถานที่ปฏิบัติงานให้ใช้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่สมาชิกปฏิบัติงานในปัจจุบันที่ใช้เวลามากที่สุดเป็นหลัก
- 11.9 ให้ผู้ดำเนินการเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแจ้งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติตามหมวด 5 ข้อ 11.6 แห่งระเบียบนี้ไปยังสมาชิกทุกคนโดยทางไปรษณีย์
- 11.10 ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีจำนวนไม่เกินจำนวนผู้บริหารที่จะเลือกตั้งให้ถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีรายชื่อในวรรคหนึ่งเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารสมาคม โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารสมาคมไม่ครบตามจำนวนผู้บริหารที่จะ เลือกตั้งในวาระนั้น ให้ถือว่าตำแหน่งผู้บริหารที่ขาดจำนวนไปนั้นว่างลง และให้ดำเนินการเลือกหรือเลือกตั้งผู้บริหารเพิ่มเติมจนครบวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 5 แห่งระเบียบนี้
- 11.11 ในกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้ง ให้ผู้ดำเนินการเลือกตั้งจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังสมาชิกสามัญ เป็นบัตรเฉพาะตัวคนละหนึ่งบัตร พร้อมกับสำเนาประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งแจ้งกำหนดวันเวลาสิ้นสุดการลงคะแนนเลือกตั้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าตามสมควร
- 11.12 การลงคะแนนเลือกตั้ง ให้กระทำโดยการเลือกชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนไม่เกินจำนวนผู้บริหารที่เลือกตั้งในวาระการเลือกตั้งนั้น ลงในบัตรเลือกตั้งที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งส่งให้ แล้วลงลายมือชื่อผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส่งถึงผู้ดำเนินการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลาตามหมวด 5 แห่งระเบียบนี้
- 11.13 การตรวจนับคะแนนเลือกตั้งต้องเริ่มดำเนินการภายในสี่สิบแปดชั่วโมงหลังกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยผู้ดำเนินการเลือกตั้งประกาศสถานที่ที่จะทำการตรวจ นับคะแนนตลอดจนกำหนดเวลาที่เริ่มนับคะแนนให้สมาชิกทราบ และการตรวจนับคะแนนต้องทำติดต่อกันไปจนสิ้นสุดในคราวเดียวกัน
- 11.14 บัตรเลือกตั้งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นบัตรเสียจะถือเป็นคะแนนเลือกตั้งมิได้
- (1) บัตรซึ่งมิใช่บัตรที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งส่งให้แก่ผู้ลงลายมือชื่อในบัตรนั้น
- (2) บัตรที่มีการเลือกรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเกินจำนวนผู้บริหารที่จะเลือกในวาระการเลือกตั้งนั้น
- (3) บัตรที่ไม่มีลายมือชื่อของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- (4) บัตรที่ผู้ดำเนินเลือกตั้งยกเลิกก่อนกำหนดเวลาสิ้นสุดการลงคะแนน
- (5) บัตรที่ผู้ส่งถึงผู้ดำเนินการเลือกตั้งหลังกำหนดเวลาสิ้นสุดการลงคะแนนบัตรที่เลือกชื่อไม่ครบจำนวนผู้บริหารที่จะเลือกตั้งในวาระการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นบัตร เสีย แต่จะนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่าที่ปรากฏชื่อในบัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้คะแนนหนึ่งคะแนนต่อหนึ่งบัตร
- 11.15 ให้ผู้ดำเนินการเลือกตั้งจัดทำรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับคะแนนสูงสุดลงมาแล้วแจ้งผลการเลือกตั้งให้สมาชิกทราบโดยเร็ว การเลือกนายกสมาคมถ้ามีผู้คะแนนสูงสุดเท่ากันให้ผู้มีชื่อในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในลำดับก่อนเป็นผู้ได้รับเลือก ผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ผู้มีชื่อในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในลำดับก่อนเป็นผู้อยู่ในอันดับต้นกว่า
- 11.16 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดตามประกาศผลการเลือกตั้งลงมาจนครบตามจำนวนผู้บริหารที่จะเลือกตั้งในวาระการเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารสมาคมยกเว้นในกรณีที่มีคะแนนสูงแต่เป็นผู้ที่มาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเดียวกันเกิน 3 คน
- 11.17 การนับวาระสองปีของคณะผู้บริหารสมาคมซึ่งได้รับเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกให้นับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งไปจนครบรอบสองปี สำหรับวาระต่อ ๆ ไปให้เริ่มนับตั้งแต่วันถัดจากวันครบรอบสองปีของคณะผู้บริหารที่เพิ่งครบวาระไปจนครบสองปี
ข้อ 12. การเลือกตั้งผู้บริหารตำแหน่งต่าง ๆ ตามวาระ
- 12.1 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งเกินกว่า 2 วาระติดต่อกันไม่ได้
- 12.2 ให้นายกสมาคมแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ 1 ท่าน จากคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้ง
- 12.3 ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาแต่งตั้งกรรมการบริหารให้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
อุปนายก 1 คน
ปฏิคม 1 คน
เหรัญญิก 1 คน
ฝ่ายวิชาการ 1 คน
และมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญเป็นกรรมการบริหารได้อีกจำนวนไม่เกิน 5 คน
- 12.3 ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งประชุมกันเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งที่ระบุในข้อ 12.3 โดยวิธีเสนอชื่อและมีกรรมการบริหารอย่างน้อยสองคนรับรอง ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในที่ประชุม หรือมีหนังสือยินยอมรับตำแหน่งที่ถูกต้อง
ถ้ามีผู้ได้รับเสนอชื่อคนเดียว ให้ผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือก โดยไม่ต้องออกเสียงลงคะแนน
ถ้ามีผู้ได้รับเสนอชื่อหลายคนให้เลือกโดยคะแนนลับสำหรับตำแหน่งนั้น ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก
ถ้าเป็นผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันให้ลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง และถ้ายังได้คะแนนเท่ากันอีกให้นายกสมาคมเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย
ในการประชุมเพื่อเลือกตำแหน่งบริหารต่างๆ จะต้องมีผู้เข้ามาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะผู้บริหารของสมาคม
หมวด 6 การดำเนินการบริหารของสมาคม
ข้อ 13. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
- 13.1 บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
- 13.2 ตราระเบียบวาระเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ หรือเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการบริหารกิจการของสมาคม
- 13.3 แต่งตั้ง บรรจุ และถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
- 13.4 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำในกิจการทั่วไปของสมาคมและให้ที่ปรึกษาอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการของสมาคมที่ได้แต่งตั้งขึ้น
- 13.5 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสมาชิก หรือบุคคลภายนอกเป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินกิจการตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายให้ และอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการของสมาคมที่ได้แต่งตั้งขึ้น
- 13.6 คณะกรรมการบริหาร อาจเชิญที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการเข้าร่วมประชุมด้วยได้ แต่ที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการดังกล่าวไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ
- 13.7 กรรมการบริหารแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่จำแนกออกได้ดังนี้คือ
- นายกสมาคม มีฐานะเป็นหัวหน้า รับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคม
- อุปนายกสมาคม มีหน้าที่
(1) เป็นผู้ช่วยนายกสมาคม
(2) บริหารงานแทน เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือเมื่อนายกสมาคมมอบหมายให้ทำการแทน
- เลขาธิการ มีหน้าที่
(1) ติดต่อประสานงาน สารบรรณ และรักษาระเบียบทั่วไป
(2) นัดหมาย จัดเตรียมและทำรายงานการประชุมตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมหรือตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ
(3) จัดทำรายงานประจำปี
- เหรัญญิก มีหน้าที่
(1) รับจ่าย และรักษาเงินของสมาคม
(2) ทำบัญชีงบเดือน งบดุลให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนมีนาคม พร้อมทั้งให้มีผู้ชำระบัญชีตรวจสอบบัญชีประจำปี
(3) ทำงบประมาณประจำปี เสนอคณะกรรมการบริหาร
(4) ควบคุมการใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
(5) เสนอรายงานจากการเงินของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ
(6) บัญชี งบดุล และงบเดือน จะต้องมีรายการย่อแสดงหนี้สินและทรัพย์สินของสมาคม
- ปฏิคม มีหน้าที่
(1) เป็นพ่อบ้านของสมาคม ดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำ
(2) ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก
(3) ดูแลรักษาสถานที่ และทรัพย์สมบัติของสมาคม
- ฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่
(1) แต่งตั้งอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ เพื่อทำหน้าที่ :
- 1.1 พิจารณารูปแบบของการประชุมวิชาการแบบต่าง ๆ
- 1.2 จัดตารางการประชุมวิชาการ
- 1.3 พิจารณาเรื่องที่จะจัดในการประชุม
- 1.4 พิจารณา ประธาน เลขานุการ สำหรับการประชุมแต่ละ session
- 1.5 พิจารณาวิทยากรที่เหมาะสมในการประชุม
(2) พิมพ์บทคัดย่อ และกำหนดการประชุมวิชาการทุกครั้ง
(3) ดำเนินการจัดอบรมระยะสั้น ของสมาคมฯ
(4) ประสานกับเลขาธิการ ปฏิคม เพื่อจัดสถานที่ประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ
(5) เข้าประชุมกรรมการบริหารของสมาคมฯ โดยแถลงความก้าวหน้าของฝ่ายวิชาการ
ข้อ 14. การประชุมคณะกรรมการบริหาร
- 14.1 ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ให้นายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนเป็นผู้เรียกประชุมหรือกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 2 คน ร่วมกันเสนอต่อเลขาธิการ เพื่อขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารได้เมื่อเห็นสมควร การประชุมทุกครั้งจะต้องมีกรรมการบริหารเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึงจะครบองค์ประชุม
- 14.2 มติของคณะกรรมการบริหารให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานการประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 15. การเงิน
- 15.1 เงินของสมาคมต้องนำไปฝากเพื่อหาดอกผลที่ธนาคารที่เชื่อถือได้ที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรในบัญชีสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย แต่คณะกรรมการบริหาร หรือเหรัญญิกอาจเก็บรักษาเงินสดไว้สำรองจ่ายได้ไม่เกิน 50,000 บาท
- 15.2 การสั่งจ่ายเงินของสมาคมจากธนาคาร ต้องมีลายมือชื่อ 2 คน คือนายกสมาคม และเหรัญญิก หรือเลขาธิการ และให้เหรัญญิกทำบัญชีรายจ่ายไว้เป็นหลักฐาน
- 15.3 ให้เหรัญญิกเป็นผู้เก็บรักษาเงิน บัญชีรายรับรายจ่ายบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาคมภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร
- 15.4 ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายหนี้สิน ทรัพย์สิน และงบดุลประจำปีของสมาคมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาคมทุกปี
- 15.5 ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกล้มไปหลังจากการชำระบัญชีแล้ว ทรัพย์สินที่ยังเหลืออยู่ให้ตกเป็นของนิติบุคคล แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควรแต่ถ้าไม่สามารถเรียกประชุมสมาชิกให้ได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในหัวข้อที่ 10 ก็ให้แล้วแต่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรโดยมีสมาชิก(ไม่นับกรรมการบริหาร) รับรองอย่างน้อย 15 คน
ข้อ 16. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริหาร กรรมการบริหารจะพ้นตำแหน่งเมื่อ
- 16.1 ออกตามวาระ
- 16.2 ลาออก และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร
- 16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
- 16.4 เป็นบุคคลล้มละลาย
- 16.5 เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนบุคคลไร้ความสามารถ
- 16.6 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงมติให้พ้นตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุม
ข้อ 17. การเลือกและการเลือกตั้งผู้บริหารแทนตำแหน่งที่ว่าง
- 17.1 ในกรณีที่กรรมการบริหารตำแหน่งใดว่างลงก่อนถึงวาระ คณะกรรมการบริหารมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญ เป็นกรรมการบริหารแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ ยกเว้นตำแหน่งนายกสมาคม ซึ่งจะต้องได้แก่อุปนายกสมาคมเท่านั้น และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งนี้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
- 17.2 ถ้าคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้นัดประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารขึ้นใหม่ ตามหมวด 5 ข้อ 11 และในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการเลือกกรรมการ บริหารชุดใหม่ก็ให้คณะกรรมการบริหารชุดที่พ้นจากตำแหน่งรักษาการเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้มารับงาน
หมวด 7 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
ข้อ 18. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ โดยมติ 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม และจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว