สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย มีอักษรย่อว่า สลท. และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Thai Society ofHematology มีอักษรย่อว่า TSH ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นสมาคมตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2521
ในอดีตนั้นผู้ป่วยด้วยโรคทางโลหิตวิทยาถูกพบน้อย และมักรวมอยู่ในผู้ป่วยอายุรศาสตร์ทั่วไป จนเมื่อนายแพทย์ไช้ ยูนิพันธ์ ได้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและเดินทางกลับมารับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปี 2477 พร้อมกับนำวิชาโลหิตวิทยากลับมาเปิดสอนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการเรียนการสอน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง ในเวลาไม่กี่ปีต่อมามีผู้สนใจในวิชาโลหิตวิทยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ นายแพทย์บุญธรรม สุนทรเกียรติ นายแพทย์มงคล เครือตราชู นายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์หญิงภุมรา ตาละลักษณ์ นายแพทย์ปรีชา เจริญลาภ แพทย์หญิงอนงค์ เพียรกิจกรรม นายแพทย์สง่า ภู่ตระกูล แพทย์หญิงคุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา นายแพทยวินัย สุวัตถี และในปี 2490 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนวิชาโลหิตวิทยาด้วยเช่นกัน มีอาจารย์ทางโลหิตวิทยา คือ นายแพทย์ประญัติ ลักษณพุกก์ แพทย์หญิงนงนุช พัฒนพงศ์พาณิช แพทย์หญิงชุลี มิตรกูล แพทย์หญิงบังอร จิตตินันท์ เป็นต้น
ในช่วงทศวรรษ 2500 ได้มีการรวมกลุ่มพบปะสังสรรค์กันของผู้สนใจด้านโลหิตวิทยา และมีการนัดหมายจัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ อภิปรายปัญหาผู้ป่วยที่น่าสนใจ การนัดหมายกันอ่านวารสารเรื่องที่น่าสนใจทางโลหิตวิทยา (Journal Club) การประชุมลักษณะนี้เริ่มมีตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดที่ศิริราช จนในปี 2508 ได้เริ่มตั้งเป็น “ชมรมโลหิตวิทยา” โดยไม่มีคณะกรรมการบริหาร ไม่เป็นทางการแต่อย่างใด
กระทั่งเมื่อโลหิตวิทยาเจริญเติบโตพัฒนาขึ้นในอีกหลายสถาบัน มีโลหิตแพทย์เพิ่มขึ้นและได้ทยอยกันไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ผู้สนใจทางโลหิตวิทยาก็เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมของชมรมโลหิตวิทยาขยายตัว มีการจัดประชุมประมาณปีละ 4 ครั้ง แม้ไม่มีกรรมการบริหารงานของชมรมฯ ก็สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น ด้วยเพราะมีสมาชิกอาวุโสของชมรมฯ ให้ความร่วมมือในการปรึกษาหารือและประสานงานอยู่เสมอ และเมื่อความก้าวหน้าทางวิชาการกว้างขวางขึ้น และสมาชิกของชมรมมีมากขึ้นความคิดที่จะก่อตั้งเป็นสมาคมโลหิตวิทยาจึงเกิด
ในวันที่ 24 มีนาคม 2515 แพทย์หญิงสุภา ณ นคร ได้ออกหนังสือเวียนขอความเห็นจากสมาชิกชมรม ในการจัดตั้งสมาคม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมาคมโลหิตวิทยา โดยมีแพทย์หญิงคุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา และแพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นกำลังสำคัญในการร่างระเบียบและข้อบังคับของสมาคมซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากและรวมถึงขั้นตอนในการขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมตามกฎหมาย ถึงกระนั้นการจัดประชุมวิชาการของชมรมฯ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่รอการก่อตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ
จนกระทั่งในปี 2519 ชมรมโลหิตวิทยาจึงได้เปลี่ยนตัวเองมาเป็น สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และมีการประชุมเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมชุดแรกในวันที่ 21 เมษายน 2520 โดยกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี เมื่อครบวาระแล้วจะต้องเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่เข้าบริหารงานต่อไปในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคม ส่วนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นสมาคมโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายในวันที่ 28 สิงหาคม 2521 โดยใช้ชื่อว่า สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ชื่อภาษาอังกฤษคือ The Society of Hematology of Thailand” ใช้ตัวย่อว่า S.H.T ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น “The Thai Society of Hematology” ใช้ตัวย่อว่า TSH
สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
The Thai Society of Hematology
ชั้น 10 อาคารเฉลิมพระบารมี 50ปี เลขที่ 2
ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
: 02-716-5977